xs
xsm
sm
md
lg

เคลียร์แยกทางวิ่งไฮสปีดญี่ปุ่น ส่วนจีนใช้ร่วมแอร์พอร์ตลิงก์ แต่ต้องปรับแบบสถานีบางซื่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” ถกญี่ปุ่นเคาะแยกทางวิ่งรถไฟความเร็วสูง ไทย-ญี่ปุ่น ออกจาก “ไทย-จีน” ญี่ปุ่นยัน “ชินคันเซ็น” ใช้ทางร่วมกับใครไม่ได้ พร้อมเสนอให้รถไฟไทย-จีนใช้ทางร่วมแอร์พอร์ตลิงก์ เหตุใช้ระบบอาณัติสัญญาณคล้ายกัน แต่ติดปัญหาต้องปรับปรุงเสริมคานสถานีกลางบางซื่อและมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม สั่ง ร.ฟ.ท.เร่งตรวจคืบหน้าไซต์งานสีแดง ยังปรับแบบได้หรือไม่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะทำงานไทย-ญี่ปุ่น ในความร่วมมือการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ร่วมกับรองอธิบดีกรมการรถไฟของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ในการบริหารจัดการพื้นที่วางราง ตั้งแต่สถานีกลางบางซื่อถึงบ้านภาชี เนื่องจากมีพื้นที่เขตทางรถไฟจำกัด โดยที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการที่ญี่ปุ่นได้ยืนยันในการแยกระบบของรถไฟความเร็วสูง (ชินคันเซ็น) ของญี่ปุ่นออกจากรถไฟฟ้าทุกระบบ โดยเป็นระบบที่ออกแบบเฉพาะ ไม่สามารถใช้ทางหรือ share track หรือใช้ระบบอาณัติสัญญาณ (signaling) ร่วมกับระบบอื่นได้ เพราะจะทำให้ไม่มั่นใจในการควบคุมดูแล โดยญี่ปุ่นได้ศึกษารูปแบบทางเลือกนำเสนอเบื้องต้นเพื่อให้รถไฟความเร็วสูงความร่วมมือไทย-จีนใช้ทางร่วมกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ตั้งแต่ออกจากสถานีกลางบางซื่อ โดยจะต้องปรับปรุงโครงสร้างบางส่วน เช่น เสริมคานให้เกิดความแข็งแรงเพื่อรับกับรถไฟไทย-จีนจะวิ่งไปใช้ทางร่วมกับแอร์พอร์ตเรลลิงก์  

โดยก่อนหน้านี้ได้ออกแบบโครงสร้างของสถานีกลางบางซื่อ ให้ระบบรถไฟความเร็วสูงและรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์อยู่ที่ชานชาลาชั้น 3 โดยให้รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา (ความร่วมมือไทย-จีน) และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ (ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น) ใช้ทางร่วมกัน ซึ่งญี่ปุ่นยืนยันว่าระบบชินคันเซ็นใช้ทางร่วมไม่ได้ ต้องแยกเฉพาะ และชี้แจงทางเทคนิคว่าระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟความเร็วสูงของจีนคือ CTCS (Chinese Train Control System) ซึ่งจีนได้พัฒนามาจากระบบของยุโรป คือ ETCS (European Train Control System) ซึ่งทางแอร์พอร์ตลิงก์จะปรับไปใช้ระบบ ETCS เพื่อปลดล็อกระบบอาณัติสัญญาณ ดังนั้นระบบควบคุมอาณัติสัญญาณของทั้ง 2 โครงการจะคล้ายกันสามารถใช้ทางร่วมกันได้

ดังนั้น จึงได้มอบให้ทางญี่ปุ่นศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม เปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย ระหว่างแนวทางเดิม คือให้รถไฟไทย-จีน และไทย-ญี่ปุ่นใช้ทางร่วมกัน กับแนวทางใหม่แยกรถไฟไทย-ญี่ปุ่น และให้รถไฟไทย-จีนใช้ทางร่วมกับแอร์พอร์ตลิงก์ ขณะที่ให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ตรวจสอบแบบการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อกรณีที่ต้องปรับปรุงโครงสร้างบางส่วนตามที่ญี่ปุ่นเสนอ และงานก่อสร้างในปัจจุบันถึงจุดที่จะมีการปรับโครงสร้างดังกล่าวแล้วหรือยัง โดยให้นำเสนอในการประชุมร่วมในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้

อย่างไรก็ตาม หากต้องมีการปรับปรุงแบบโครงสร้างสถานีกลางบางซื่อเพื่อเสริมความแข็งแรงของคานเพื่อรองรับโครงสร้างรถไฟไทย-จีนตามที่ญี่ปุ่นเสนอนั้นจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในส่วนนี้ ซึ่งจะหารือในรายละเอียดต่อไปว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของโครงการใด
กำลังโหลดความคิดเห็น