xs
xsm
sm
md
lg

ชง ครม.ปรับกรอบร่วมมือรถไฟไทย-จีน เปลี่ยนเป็นไฮสปีด ไทยลงทุนเอง 100%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” ชง ครม.เห็นชอบกรอบความร่วมมือรถไฟไทย-จีน (FOC) ที่ปรับปรุงใหม่วันนี้ (23 ส.ค.) โดยเปลี่ยนเป็นระบบรถไฟความเร็วสูง “กรุงเทพฯ-โคราช” แบ่งสร้าง 4 ตอน ไทยลงทุนเอง 100% พร้อมนัดถกคณะทำงานไทย-จีน ครั้งที่ 13 ที่กรุงปักกิ่ง 24 ส.ค.นี้ เพื่อสรุปแบบก่อสร้าง เร่งตอกเข็มตอนแรก 3.5 กม.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (23 ส.ค.) จะเสนอกรอบความร่วมมือในการดำเนินการระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ (Framework of Cooperation : FOC)  ที่มีการปรับแก้ไขขอบเขตใหม่ หลังจากที่ที่ผู้นำไทยและจีนได้ตกลงกันว่าจะปรับการก่อสร้างเป็นรถไฟความเร็วสูงจากเดิมเป็นรถไฟความเร็วปานกลาง และไทยจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็น 4 ตอน ประกอบด้วย ตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม. (สถานีกลางดง-ปางอโศก)  ตอนที่ 2 จากปากช่อง-คลองขนานจิตร ระยะทาง  11 กม. ตอนที่ 3 แก่งคอย-โคราช ระยะทาง 119 กม. ตอนที่ 4  กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 119 กม. ขณะที่การพัฒนาพื้นที่สองข้างทางนั้นทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะดำเนินการ

โดยคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน  จะประชุมครั้งที่ 13 ที่กรุงปักกิ่งในวันที่ 24 ส.ค.นี้ เพื่อเจรจาเรื่องรูปแบบ Engineering Procurement and Construction (EPC) ในส่วนของ EPC-2 ที่ได้ปรับใหม่โดยแยกออกเป็น 3 สัญญา คือ EPC-2.1 สัญญางานออกแบบ โดยจะเร่งทำส่วนนี้ก่อนเพื่อให้สามารถเริ่มการก่อสร้างได้ และ EPC-2.2 สัญญาควบคุมงาน และ EPC-2.3 สัญญาจัดหาระบบตัวรถ ระบบอาณัติสัญญาณ ซ่อมบำรุงและฝึกอบรม  เพื่อแยกงานออกมาทำก่อน ขณะที่แบบของตอนที่ 1 อยู่ระหว่างปรับรายละเอียด โดยจะเร่งหาข้อสรุปเพื่อนำไปสู่การคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งตามกำหนดจะเริ่มเดือน ก.ย.นี้

ทั้งนี้ ตามแผนจะดำเนินการก่อสร้างช่วงแรก กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5กม.ก่อน ส่วนจะเริ่มได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ตามเป้าหมายหรือไม่นั้นจะต้องรอผลการเจรจาในวันที่ 24 ส.ค.นี้ก่อน โดยจะมีประเด็นเรื่องแบบรายละเอียดการก่อสร้างที่ทางไทยกำลังตรวจสอบ แม้ว่าจีนจะมีมาตรฐานแต่เป็นการก่อสร้างในประเทศไทย ซึ่งสภาพทางภูมิประเทศไม่เหมือนกัน นอกจากนี้จะต้องสรุปแบบรายละเอียดให้ตรงกันเพื่อนำไปสู่การประเมินราคาที่ถูกต้องอีกด้วย

สำหรับความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่นนั้น นายอาคมกล่าวว่า มีการประชุมคณะทำงานด้านเทคนิคทั้งสองฝ่ายอย่างต่อเนื่องเพื่อดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดยในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะใช้เทคโนโลยีระบบชินคันเซ็นของญี่ปุ่น แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก และพิษณุโลก-เชียงใหม่ ซึ่งฝ่ายไทยได้ขอให้ญี่ปุ่นเร่งรัดการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ ตลอดเส้นทาง และขอให้ญี่ปุ่นสนับสนุนทางวิชาการ และการศึกษาการพัฒนาพื้นที่ระหว่างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงและบริเวณโดยรอบสถานี ซึ่งเป็นการประเมินรายได้ผลตอบแทนทางอ้อม ซึ่งทางญี่ปุ่นนั้นเน้นทำแผนพัฒนาระยะยาว โดยจะมีการเสนอรายงาน ครม.ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้เพื่อเดินหน้าโครงการในส่วนของการออกแบบต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น