“อาคม” เคาะ ก.ย. 59 ตอกเข็มรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่สถานีกลางดง ระยะทาง 3.5 กม. เพื่อเริ่มต้นโครงการ เร่งจีนออกแบบรายละเอียดใน 1 เดือนเพื่อเร่งประมูล พร้อมเจรจาบีบค่าลงทุนโครงการลงอีก 1 หมื่นล้าน จากที่จีนเสนอไว้ที่ 1.89 แสนล้าน มาอยู่ที่ 1.79 แสนล้าน ขณะที่แบ่ง 4 ช่วงก่อสร้าง ช่วงที่ 2 ระยะทาง 10 กม. ช่วงที่ 3ระยะทาง 120 กม. และช่วงที่ 4 ระยะทาง 119 กม.
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2559 ที่กรุงเทพฯ ว่า จะแบ่งการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-โคราช ระยะทาง 252.35 กม.ออกเป็นตอนๅ โดยจะเริ่มก่อสร้างตอนที่ 1 ช่วงสถานีกลางดง (นครราชสีมา) ระยะทาง 3.5 กม.ก่อน ในเดือน ก.ย. 2559 เพื่อเป็นการเริ่มต้น โดยได้เร่งรัดให้ฝ่ายจีนออกแบบรายละเอียด (Detail&Design) ให้แล้วเสร็จภายใน1 เดือน เพื่อเปิดประมูลหาผู้รับเหมาในเดือน ส.ค.นี้
ส่วนวงเงินลงทุนทั้งโครงการจะต้องเร่งสรุปเพื่อเป็นกรอบเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ก.ค. ซึ่งได้สั่งให้ฝ่ายเทคนิคของทั้งสองฝ่ายหารือร่วมกันเพื่อปรับลดวงเงินลงอีก เนื่องจากยังเห็นว่าตัวเลขที่จีนเสนอมายังสูงไป
“ค่าก่อสร้างสองฝ่ายต้องคุยกันเพื่อปรับลดลงอีก แต่หลักการจะไม่ลดสถานี โดยจะมี 6 สถานีตามโครงการรถไฟความเร็วสูงเดิม ซึ่งทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ออกแบบไว้ รวมถึงการลดต้นทุนจะต้องไม่กระทบต่อมาตรฐานโครงสร้าง ระบบ และความปลอดภัย”
โดยหลักการจะใช้งบประมาณสำหรับการเวนคืน ส่วนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจะใช้เงินกู้ภายในประเทศหรืออาจจะระดมทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนระบบ รถไฟที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ สามารถใช้ได้ทั้งกู้เงินในประเทศ กู้จากต่างประเทศ หรือกู้จากจีน ขึ้นกับกระทรวงการคลังจะพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมที่สุด
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สรุปรายละเอียดการก่อสร้างเมื่อเริ่มตอนแรก ช่วงสถานี กลางดง ระยะทาง 3.5 กม.ไปก่อนแล้ว จะต้องแบ่งตอนการก่อสร้างในส่วนที่เหลือให้ชัดเจนว่ามีกี่ตอน และแต่ละตอนการออกแบบรายละเอียดจะเสร็จเมื่อใด จะเริ่มก่อสร้างในแต่ละตอนช่วงเวลาใด เนื่องจากทางจีนระบุว่าจะออกแบบรายละเอียดตลอดเส้นทางระยะทางกว่า 250 กม.เสร็จในอีก 8 เดือน หรือเสร็จในเดือน ก.พ. 2560 ซี่งไทยมองว่าหากรอให้การออกแบบเสร็จทั้งโครงการแล้วค่อยก่อสร้างคงไม่ได้ เพราะต้องการให้ทยอยก่อสร้างในตอนต่อๆ ไปหลังจากเริ่มตอนแรกแบบต่อเนื่อง
“การเริ่มช่วงสถานีกลางดง โคราชก่อนเพราะระยะทางสั้น เป็นทางเรียบ ใช้พื้นที่เขตทางรถไฟตลอด ไม่ต้องเวนคืนเพิ่มเติม ถือว่าอุปสรรคน้อยที่สุด ซึ่งจะใช้ ม.44 ดำเนินการ เนื่องจากอยู่ระหว่างยื่นเสนอ EIA ดังนั้นเมื่อเปิดประมูลได้ผู้รับเหมาแล้วจะลงนามสัญญาได้ต้องรอ EIA ผ่านก่อน แต่ไม่น่ามีปัญหา”
แหล่งข่าวกล่าวว่า จุดก่อสร้างช่วงแรก สถานีกลางดง คือที่ กม.150+500 ถึง กม.154 +500 ระหว่างสถานีกลางดง-สถานีปางอโศก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา (สถานีรถไฟปัจจุบันของ ร.ฟ.ท.) ส่วนราคาที่ทางจีนและไทยได้หารือกันล่าสุดอยู่ที่189,981 ล้านบาท ซึ่ง รมว.คมนาคมเห็นว่าสูงไปและสามารถลดลงได้อีก โดยต้องการให้ลดลงอีกอย่างน้อย 7,000 ล้านบาท ขณะที่คงจำนวน 6 สถานี คือ บางซื่อ, ดอนเมือง, อยุธยา, สระบุรี, ปากช่อง, นครราชสีมา โดยตัดสถานีภาชีและแก่งคอย ซึ่งกำหนดเป็นสถานีเพื่อรองรับการขนส่งสินค้า โดยเพิ่มขึ้นในช่วงที่ทำเป็นรถไฟความเร็วปานกลาง กรุงเทพฯ-หนองคาย แต่ไม่มีความจำเป็นแล้วเมื่อปรับเป็นรถไฟความเร็วสูง
โดยในช่วงบ่ายฝ่ายเทคนิคได้หารือถึงตัวเลขค่าลงทุน โดยไทยได้เคาะตัวเลขลงมาที่ 1.79 แสนล้านบาท หรือปรับลดลงประมาณ 1 หมื่นล้านซึ่งต้องรอฝ่ายจีนยอมรับ โดยตัวเลขที่ลดลงนี้จะมีเงื่อนไขในการดำเนินงานเพิ่มเติม ซึ่งต้องหารือในรายละเอียดของการออกแบบต่อไป
พร้อมกันนี้ ได้หารือการปรับรายละเอียดของกรอบความร่วมมือในการดำเนินการระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ (Framework of Cooperation : FOC) ใหม่ เป็นรูปแบบ Engineering Procurement and Construction (EPC) โดยแยกเป็น EPC-1 หรืองานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Civil Work) ซึ่งเป็นงานใต้รางลงไป ไทยจะเป็นผู้ดำเนินการเองโดยคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างของไทยดำเนินงาน และ EPC-2 หรืองานออกแบบ และงานระบบรางและรถไฟความเร็วสูง (ระบบอาณัติสัญญาณ ตัวรถไฟ) ซึ่งเป็นความร่วมมือจีทูจี
นายอาคมกล่าวว่า การเจรจาช่วงบ่ายมีความชัดเจนเพิ่มเติมเรื่องแบ่งการก่อสร้างช่วงที่ 2 โดยกำหนดระยะทางที่ 10 กม. เป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากช่วงแรก โดยให้จีนส่งแบบรายละเอียดในสิ้นเดือน ต.ค. ช่วงที่ 3 กำหนดระยะทาง 120 กม. ให้จีนส่งแบบรายละเอียดในสิ้นเดือน ธ.ค. 59 และช่วงที่ 4 ระยะทาง 119 กม. ส่งแบบละเอียดในเดือนก.พ. 2560
ส่วนวงเงินลงทุนในโครงสร้างหลักๆ เห็นตรงกันแล้ว เหลือที่ยังต้องเจรจาต่อรองกับจีนเพิ่มเติมในหมวดรายการอื่นๆ เช่น การฝึกอบรมพนักงานที่เกี่ยวข้องกับรถที่จะเป็นรถจีน การฝึกอบรม การดูแลรักษา ซ่อมบำรุง ระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งบางรายการคิดค่าใช้จ่ายสูงไป หรือบางรายการอาจเป็นการให้เปล่าได้ เป็นต้น โดยจะมีการประชุมร่วมครั้งที่ 12 ในวันที่ 22 ก.ค. ที่ประเทศไทย