ไทยเจรจาจีนเร่งสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช ซอยสัญญาสร้าง 4-5 ตอน เร่งตอกเข็ม ส.ค.-ก.ย.นี้ “อาคม” เผยสัปดาห์นี้รู้ตัวเลขต้นทุน หลังจีนยอมลดโดยตัดงานที่ยังไม่จำเป็นในช่วงแรกออก ไม่ยืนยันใช้วิธีพิเศษเลือกรับเหมา ลั่นไทยตั้งบริษัทเดินรถลงทุนสร้างเอง 100% เล็งหารายได้พาณิชย์เสริม เตรียมชง ครม.เห็นชอบรายละเอียดกรอบความร่วมมือ FOC เพื่อลงนามใหม่
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 11-12 พ.ค. 2559 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นการเจรจามีผลสำเร็จด้วยดีตามหลักการที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนได้เห็นชอบร่วมกันในการหารือที่เมืองไห่หนาน เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2559 โดยยึดหลักการเรื่องความร่วมมือระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) ไทยลงทุนเอง 100% และให้จีนพิจารณาเพื่อปรับลดวงเงินลงทุนลง พร้อมทั้งปรับกรอบเวลาการดำเนินงานโครงการให้เหมาะสมและเป็นไปได้ โดยเริ่มการก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย-โคราช ระยะทาง 252.35 กม.ก่อน
ซึ่งจะแบ่งสัญญาก่อสร้างออกเป็น 4-5 ตอนเพื่อความรวดเร็วในการก่อสร้าง โดยเลือกช่วงที่ใช้พื้นที่เขตทางรถไฟเป็นหลักมีการเวนคืนน้อยก่อสร้างก่อน เช่น โคราช-ปากช่อง หรือช่วงบ้านภาชี และกำหนดที่จะเริ่มการก่อสร้างงานโยธาส่วนแรกให้ได้ภายในเดือน ส.ค.-ก.ย. 2559 และทยอยเริ่มก่อสร้างในตอนที่เหลือให้หมดภายในปี 2559
ทั้งนี้จะต้องอยู่ที่การหารือกับจีนด้วย โดยคาดว่าจะใช้เวลาออกแบบรายละเอียดเสร็จใน 60 วัน ส่วนการเปิดเดินรถจะทยอยเปิดเป็นช่วงๆ ที่เสร็จก่อนหรือไม่จะต้องหารือกับฝ่ายจีนเช่นกัน เนื่องจากจะต้องดูเทคโนโลยีของรถไฟความเร็วสูงด้วยว่าทำได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม จะมีการประชุมร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 11 ในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อสรุปรายละเอียดของกรอบความร่วมมือในการดำเนินการระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ (Framework of Cooperation : FOC) ใหม่ เนื่องจากหลักการตามข้อตกลงเดิมมีการเปลี่ยนแปลง เช่น การตั้งบริษัทร่วมทุน (SPV) ตั้งแต่เริ่มโครงการจะไม่มีแล้ว รวมถึงการใช้เงินกู้ในประเทศเป็นหลักจากเดิมที่จะกู้เงินจีน
โดยในสัปดาห์นี้จีนจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาหารือกับคณะทำงานฝ่ายไทยเพื่อสรุปตัวเลขต้นทุนโครงการในสัปดาห์นี้ โดยจีนระบุว่าอาจจะมีการปรับลดบางรายการที่ยังไม่มีความจำเป็นในช่วงเริ่มต้นเพื่อลดต้นทุนการก่อสร้างและระบบรถไฟให้ลดลง โดยยังคงหลักการด้านมาตรฐานและความปลอดภัย พร้อมกันนี้จะรายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และขอความเห็นชอบในรายละเอียดข้อตกลงที่จะมีการเปลี่ยนแปลงใน FOC ก่อนลงนามร่วมกันต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า เรื่องการเดินรถไฟความเร็วสูงนั้นไทยจะจัดตั้งบริษัทขึ้นมา ซึ่งยังไม่ได้สรุปว่าจะให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมา หรือจัดตั้งเป็นบริษัทร่วมทุน (PPP) ซึ่งจะมีเรื่องการพัฒนาพื้นที่ดินเชิงพาณิชย์ด้วย ขณะที่ก่อนหน้านี้ สนข.ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ
โดยการศึกษาเบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้โดยสารต่อวัน 23,000 คน ค่าโดยสารแบ่งเป็นค่าแรกเข้า 80 บาท และคิดตามระยะทางกิโลเมตรละ 1.8 บาท คาดว่าค่าโดยสารจากกรุงเทพฯ-โคราช อยู่ที่ 530 บาท
สำหรับผลการประชุมร่วมครั้งที่ 10 ได้เห็นชอบร่วมกันใน 5 ประเด็น คือ 1. ปรับลดวงเงินลงทุนลงจาก 1.9 แสนล้านบาท โดยไทยลงทุน 100% โดยยังคงหลักการด้านมาตรฐานและความปลอดภัย และความเหมาะสม ซึ่งทางฝ่ายจีนจะดำเนินการให้ได้ข้อยุติภายใน 1 สัปดาห์ โดยจีนระบุว่าอาจจะมีการปรับลดบางรายการที่ยังไม่มีความจำเป็นในช่วงเริ่มต้นเพื่อลดต้นทุน
2. ก่อสร้างในรูปแบบ Engineering Procurement and Construction (EPC) โดยแยกเป็น EPC-1 หรืองานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Civil Work) ซึ่งเป็นงานใต้รางลงไป ไทยจะเป็นผู้ดำเนินการเองโดยคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างของไทยดำเนินงาน โดยจะเร่งออกแบบรายละเอียด (Detail & Design) เพื่อกำหนด TOR ประมูลก่อสร้างเร็วที่สุด ส่วนการคัดเลือกผู้รับเหมายังระบุไม่ได้ว่าจะต้องใช้วิธีพิเศษหรือไม่ EPC-2 หรืองานระบบรางและรถไฟความเร็วสูง (ระบบอาณัติสัญญาณ ตัวรถไฟ) จีนจะคัดเลือกรัฐวิสาหกิจของจีนที่มีผลงานด้านรถไฟความเร็วสูงที่มีคุณภาพ
3. ไทยจะตั้งบริษัทเดินรถลงทุน 100% โดยจีนให้ความช่วยเหลือด้านบริหารจัดการ ฝึกอบรม พัฒนาบุคลากรตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งจะเปลี่ยนจากข้อตกลงเดิมที่การเดินรถจะเป็นการร่วมทุนไทย-จีน ทั้งนี้ หากจีนสนใจที่จะร่วมในส่วนของการเดินรถสามารถยื่นข้อเสนอเข้ามาได้
4. ไทยยินดีใช้แหล่งเงินกู้จากจีนหากได้รับเงื่อนไขทางการเงินที่เหมาะสมและถูกที่สุด ซึ่งทางรองนายกฯ จีนได้รับปากอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2% ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะพิจารณาเลือกแหล่งเงินที่เหมาะสมและถูกที่สุดต่อไป และ 5. แผนการดำเนินงานของโครงการ ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันในการกำหนดแผนการดำเนินงานและกำหนดการเริ่มต้นก่อสร้างงานโยธาส่วนแรกให้ได้ภายในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2559