xs
xsm
sm
md
lg

หักดิบรถไฟ ไทย-จีน “ประยุทธ์” ลั่นขอทำเอง กทม. - โคราช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกรัฐมนตรีตัดสินใจลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ด้วยตัวเองโดยไม่พึ่งจีน 250 กิโลเมตร ใช้เวลา 1 ชั่วโมง อ้างเป็นประโยชน์ต่อชาวอีสาน ยืนยันจีนไม่ติดใจอะไร ด้านผลการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง เตรียมตั้งศูนย์ติดตามเรื่องการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง รายงานการปล่อยน้ำจากจีน และวางแผนรองรับในช่วงภัยแล้ง พร้อมระบุ ไทยกำลังใช้เศรษฐกิจพอเพียงพัฒนาประเทศ

วันนี้ (24 มี.ค.) ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) เมื่อเวลา 16.40 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังเดินทางกลับจากการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเรื่องการบริหารจัดการน้ำในแม่โขง - ล้านช้าง เนื่องจากมีภัยแล้ง น้ำไม่เพียงพอ โดยที่ประชุมตกลงกันว่าเราจะตั้งศูนย์ติดตามเรื่องการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงท้ายน้ำ โดยประเทศท้ายน้ำ คือ เวียดนาม ซึ่งวันนี้จีนได้ปล่อยน้ำมามากพอสมควร หากมีการตั้งศูนย์ฯ เรียบร้อยจะเป็นการแจ้งเตือนล่วงหน้า ว่า จะมีการปล่อยน้ำมาเมื่อไหร่ อย่างไร ตามความเดือดร้อนที่ได้มีรายงานเข้าไป โดยศูนย์ฯ จะพิจารณาร่วมกันถึงการปล่อยน้ำว่าแค่ไหนอย่างไร

นายกฯ กล่าวว่า ประเทศสมาชิกได้ขอกันว่า เมื่อไรก็ตามที่มีสภาวะภัยแล้ง ขอให้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า เพื่อเตรียมการรองรับน้ำที่ปล่อยมา ซึ่งหลายครั้งที่ผ่านมาไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ทำให้ท่วมพืชผลการเกษตร ซึ่งจีนก็จะแจ้งล่วงหน้า เพื่อให้เตรียมการได้อย่างถูกต้อง ตรงนี้เป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ว่าจะปลูกพืชกันอย่างไร และข้อสำคัญต้องนึกถึงประเทศท้ายน้ำ ซึ่งน่าเห็นใจเพราะเราเป็นอาเซียนด้วยกัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนได้ไปที่เกาะไหหลำ ประเทศจีน มา ซึ่งมีความสงบไม่เห็นวุ่นวาย เขาปฏิบัติตามกฎหมาย ตำรวจก็ว่างงานยืนนิ่งเฉย ๆ ไม่ต้องไล่จับคนขายของตามถนนหนทาง อยากให้ดูเขา ต้องคิดแบบตนว่าเมื่อไปต่างประเทศ ต้องมองอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อเรา การจัดระเบียบนั้นควรทำอย่างไร ไม่ใช่มาบังคับกันทุกเรื่อง กฎหมายมีทุกตัว แต่ไม่ทำไม่ใช้ ตนนั่งรถที่เกาะไหหลำเห็นเขาสร้างถนนไฮเวย์ ทั้งที่บริเวณนั้นไม่มีตึกรามบ้านช่อง ขณะบ้านเราจำเป็นยังสร้างไม่ได้เลย ไม่คิดสิว่าทำไม เขาทำ เพราะต้องวางแผนล่วงหน้าใช่หรือเปล่า ประชาชนเคารพและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศใช่หรือไม่ สมมติว่า รัฐบาลตนกำลังวางแผนทำอย่างไรให้บ้านเมืองไปได้ ทั้งการเกษตร บริหารจัดการน้ำ และทำให้เมืองมีความทันสมัย เพราะทั้งหมดนี้มันอยู่อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีกิจกรรมที่เสริมสร้างซึ่งกันและกันในแต่ละพื้นที่ จึงนำมาสู่การสร้างผังเมืองเพื่อจะได้มีอาชีพกันทุกคน

ในที่ประชุมตนได้พูดในสิ่งที่รู้สึกและอยากจะพูด ว่า ประเทศไทยกำลังพัฒนา และใช้แนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในประเทศเวลานี้ และพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับหลายประเทศ ทุกประเทศในโลกเหมือนเป็นรถไฟขบวนเดียวกันอยู่ที่ว่าจะพ่วงใครไปบ้าง ตนไม่ใช่คนเก่ง แต่ประยุกต์อะไรได้พอสมควร มองอะไรที่ใช้ประโยชน์ได้เหมือนกับการวางแผนการรบให้ชนะ เราต้องหาทางที่ได้เปรียบไม่ใช่วิ่งทื่อ ๆ เข้าไป รัฐบาลหน้าต้องคิดแบบนี้

นายกฯ กล่าวถึงกรณีไทยตัดสินใจลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ด้วยตัวเองโดยไม่พึ่งจีน ว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันและข้อมูลทั้งหมดได้คิดทบทวนแล้วว่าควรดำเนินการเองดีกว่า เพื่อให้เป็นของเราเอง ภายในประเทศของเรา ซึ่งตนเห็นศักยภาพที่พร้อมก่อนในภาคอีสาน จะเปิดประตูด้านอีสานก่อน เพราะอีสานเป็นแหล่งวัตถุดิบ เป็นแหล่งแรงงาน เป็นแหล่งของสถานประกอบการต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว และมีจังหวัดใหญ่หลายจังหวัดที่มีความเข้มแข็ง มีรายได้ต่อจีดีพีหลายจังหวัด ประชาชนมีความเข้มแข็ง

ทั้งนี้ ตนมองว่า เปิดประตูอีสานจะเป็นประโยชน์ที่เชื่อมต่อในภายภาคหน้าได้ หากเราทำภาคนี้ได้ และเปิดทุกภาคได้ ก็จะเป็นการดี แต่เนื่องจากขีดความสามารถเรามีจำกัดในเรื่องรายได้ของประเทศ จึงต้องตัดสินใจว่าจะเริ่มเส้นไหนก่อน ถ้าไม่ทำวันนี้เราอาจจะช้าเกินไป เราจำเป็นที่ต้องมีการกระจายรายได้ออกสู่ชนบท จากเมืองใหญ่คือกรุงเทพไปยังแต่ละภาค แต่ละกลุ่มจังหวัดที่เข้มแข็ง หากสัญจรรวดเร็วคนอาจจะนั่งรถไฟไปเช้าเย็นกลับได้ เป็นการกระจายคนสู่ชนบท กระจายเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน หากทำรางไว้ก่อนแบบที่เราเคยคิดไว้แล้วเอาความเร็วปานกลางมาวิ่ง วันหน้าต้องเปลี่ยนความเร็วสูงอีกอยู่ดี จึงคิดว่าการลงทุนครั้งนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดในช่วงระยะเวลานี้ หลายประเทศเริ่มทำแล้ว ที่ทุกคนกลัวสินค้านู้นนี่จะเข้ามาเพื่อให้เกิดความเชื่อใจจึงเอาของเราไปก่อน ตนคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่มีเหตุผล เราต้องไว้ใจซึ่งกันและกัน หากมองว่าเขาต้องการกำไร ตนคิดว่าเขาคงไม่ได้กำไรเพราะเส้นทางสายนี้ เพราะเป็นเส้นทางที่ไม่ยาวมากนัก 250 กิโลเมตร ซึ่งหากใช้เวลาวิ่งจากกรุงเทพถึงโคราชจะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงอย่างเต็มสปีด

“ไม่ร่วมกับจีนแล้วทำเองดีกว่า เพราะเรามีขีดความสามารถและเตรียมงบประมาณไว้แล้ว จริง ๆ แล้วที่เราเป็นห่วงว่าเงินลงทุนงบประมาณภาครัฐทำไมไม่ออกในเวลา เพราะมันออกไม่ได้ ตกลงไม่ได้สักที วันนี้เรามีวงเงินอยู่แล้วล้านกว่าล้านบาท จะต้องลงทุนพวกโครงสร้างพื้นฐานบ้าง แต่ออกไม่ได้ติดนู้นนี่ ติดอีเอชไอเอทั้งหมด ซึ่งเรายกเลิกไม่ได้อยู่แล้ว การทำรถไฟความเร็วสูงก็ต้องผ่านอีไอเอด้วย และจะเริ่มดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะเป็นการทำงานแบบจีทูจี โดยวิศวกรจะมาถ่ายทอดเทคโนโลยีมาช่วยเราก่อสร้าง คนงานก่อสร้างก็เอาของเรา และของบางอย่างที่เราทำเองไม่ได้ก็ต้องซื้อเขา ทั้งหมดเป็นการจ้างเขามาสร้าง แต่ใช้เงินในประเทศเรา อาจมีการร่วมทุนกับเอกชนบ้างที่เอารถวิ่ง มีเรื่องโครงสร้างพื้นที่คือตัวราง อันที่สองรถสิ่งกับระบบสัญญาณ ฉะนั้นคิดว่าทำกันเองดีกว่า ผมคิดว่าคนไทยพร้อมร่วมมือ เป็นของเราเอง ภาคภูมิใจกว่า” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องของรถไฟ ตนปล่อยเวลามา 2 ปีแล้ว และคิดว่าถึงเวลาและจำเป็นที่ต้องตัดสินใจแล้ว ขอร้องทุกคนให้เข้าใจ ยืนยันว่าตนไม่ต้องการประโยชน์ใด ๆ แต่ต้องการให้ประโยชน์เกิดกับประชาชนทุกคน ซึ่งถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นได้ ประโยชน์จะเกิดต่อชาวอีสานก่อน และถ้ามีเงินมากกว่านี้ เศรษฐกิจดีขึ้นก็อาจจะเพิ่มในภาคตะวันตกอีกก็ได้ ถ้าเรามัวรอทั้งเส้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ มันยาวนานเกินไป เดี๋ยวจะตายก่อนหมด ไม่มีทางได้เห็น ตนกล้าว่าจะตายก่อนเหมือนกัน

เมื่อถามว่า แนวทางที่ไทยจะดำเนินการก่อสร้างเองจะทำเองทั้งหมดเลยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อย่าเพิ่งสรุปเช่นนั้น ตนบอกเพียงว่าถ้าเรารวย วันนี้เอาแค่สายนี้ก่อนในความยาว 250 กม. จากกรุงเทพฯ - โคราช เพราะเส้นทางที่จะก่อสร้างทั้งหมดมีความยาวถึง 800 กม. ในส่วนของงบนั้น ขอย้ำอีกครั้งว่า เป็นลักษณะของรัฐลงทุนโดยใช้เงินกู้

“ส่วนที่ถามว่าจะคุ้มกับการลงทุนหรือไม่ ถ้าหมายถึงคนขึ้น - ลง แล้วได้กำไรกลับมาเท่ากับที่ลงทุน อย่างนี้เขาไม่เรียกว่าการลงทุนเพื่ออนาคต ถ้าคิดแบบนี้ไปขึ้นรถเมล์เอาก็ได้ แต่โครงการดังกล่าวจะมีการต่อเพื่อเชื่อมโยงในวันข้างหน้า จากวันนี้ไปพื้นที่อีสาน วันข้างหน้าก็อาจต่อไปยังหนองคาย อาจเชื่อมโยงไปมาบตาพุด ลาว จีน ปากีสถาน อิเดีย ยุโรป อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าคุ้มทุน เรียกว่ารถไฟสายอนาคต” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนที่จะให้เอกชนไทยร่วมลงทุนกับรัฐนั้น ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคนดูแลอยู่ ซึ่งเบื้องต้นเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเรามี PPP หรือ ความร่วมมือภาครัฐ - ภาคเอกชน (Public Private Partnership) อยู่แล้ว วันนี้จีนไม่เกี่ยวกับเรา จึงถือเป็นเรื่องของเราเองทั้งหมด ไปหารถมาวิ่ง ในส่วนของระบบสัญญาณ เราก็ต้องไปดู โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ตอบแทน

“จีนไม่ได้ติดใจอะไรกับการตัดสินใจครั้งนี้ เขาโอเค เขาเข้าใจผม และจีนได้ขอบคุณไทยโดยระบุว่า อยากช่วย ไม่ได้ต้องการอะไรจริง ๆ และอยากให้ผมช่วยอธิบายให้คนไทยเข้าใจด้วยว่า เพราะเขาได้ยินมาว่าเหมือนไทยไม่ไว้ใจคนจีน ซึ่งผมยืนยันว่าไม่มี เรื่องแบบนี้ยังไงเราก็หนีกันไม่พ้น เพียงแต่จะจัดระเบียบกันได้อย่างไร เพราะกฎหมายมีกันอยู่แล้ว กฎหมายจะเป็นตัวที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียม ถ้าเราปล่อยปละละเลย ก็จะเกิดความไม่เท่าเทียม แล้วจะไปโทษใคร เมื่อกฎหมายทำไม่ได้ ก็ทำไม่ได้ อย่าโทษกันไปมา สิ่งสำคัญคือ เราต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้น ลดความหวาดระแวง และเกิดผลประโยชน์ที่เท่าเทียม โลกอยู่ได้ด้วย 3 ข้อนี้ ถ้าถามว่าทำไมเรากำไรน้อย ก็ต้องมาดูว่าเราแข็งแรงพอหรือยัง ถ้าเราแข็งแรงและมีแต้มต่อมากว่านี้ ข้อเสนอเราก็คงมีเยอะ วันนี้เรายังไม่แข็งแรงเลย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น