เชียงราย - ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ขึ้นเชียงรายโปรยยาหอมคนเวียงเชียงรุ้ง ระบุอนาคตเป็นพื้นที่ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างเส้นทางรถไฟเด่นชัย-แพร่เชื่อม สปป.ลาวที่เชียงของ
วันนี้ (4 มี.ค.) นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นายวรสฤษดิ์ นามราษฎร์ ผช.ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ชมรมพัฒนาชนบท กฟภ. ฯลฯ เดินทางไปมอบอุปกรณ์การเรียนการสอนให้นักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยห้างป่าสา ต.ป่าซาง อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย ซึ่งเปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6
โดยคณะได้มอบอุปกรณ์เป็นคอมพิวเตอร์ สมุด กระเป๋าใส่อุปกรณ์การเรียน ฯลฯ ให้นักเรียนที่มีอยู่ในโรงเรียนจำนวน 85 คน และนายวุฒิชาติแจ้งต่อผู้เข้าร่วมพิธีมอบอุปกรณ์ดังกล่าวว่า ในอนาคต อ.เวียงเชียงรุ้งจะเป็นพื้นที่ที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นหนึ่งในพื้นที่ก่อสร้างเส้นทางรถไฟสาย อ.เด่นชัย จ.แพร่ เพื่อไปยังชายแดนไทย-สปป.ลาว อ.เชียงของ ด้วย โดยจะมีสถานีเวียงเชียงรุ้งซึ่งจะทำให้พื้นที่มีการพัฒนาต่อไป
นายวุฒิชาติกล่าวว่า ปัจจุบันรายละเอียดและการออกแบบโครงการรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย ที่สมบูรณ์แบบได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปหมดแล้ว ดังนั้นจึงอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบเรื่องสิ่งแวดล้อมเพราะเส้นทางนี้จะต้องมีการขุดเจาะอุโมงค์หลายจุด เส้นทางเดิมที่จะดำเนินการยังคงเป็นเส้นทางเดิมสายล่าสุดที่ได้มีการศึกษากันไปแล้ว
ส่วนเรื่องงบประมาณนั้น ในการยื่นเสนอขออนุมัติอีกครั้งคงจะดูรายละเอียดเรื่องต้นทุนผันแปร เช่น น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ แต่กรอบงบประมาณยังคงอยู่ในกรอบประมาณ 77,000 ล้านบาทเหมือนเดิม
นายวุฒิชาติกล่าวอีกว่า สำหรับในปี 2559 นี้ทาง ร.ฟ.ท.จะดำเนินการเรื่องการพัฒนารถไฟรางคู่ไปก่อนโดยใช้งบประมาณ 200,000 ล้านบาท ปัจจุบันเริ่มต้นไปแล้ว 2 เส้นทางด้วยงบประมาณ 33,000 ล้านบาท คือจากสถานีคลองสิบเก้า จ.ฉะเชิงเทรา-แก่งคอย จ.สระบุรี เพื่อขยายเส้นทางตะวันออกเลียบชายฝั่งทะเลและเพิ่มขีดความสามารถของแหลมฉบัง และสถานีจิระ-ขอนแก่น โดยได้ผ่านการตรวจสอบเรื่องสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอเรียบร้อยแล้วและอยู่ระหว่างการรวบรวมเรื่องส่งคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติดำเนินโครงการ
นอกจากนี้ยังมีเส้นทางอื่นที่จะดำเนินการคือเส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ และนครปฐม-หัวหิน ซึ่งทั้งหมดนี้จะดำเนินการในปี 2559 นี้ และยังมีอีก 8 เส้นทางที่จะดำเนินการต่อไปอีก เช่น เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-หัวหิน เส้นทางในภาคอีสานอีก 2-3 เส้นทาง ฯลฯ
“สำหรับเส้นทางสายเด่นชัย-เชียงราย ถือเป็นเส้นทางใหม่นอกเหนือจากเส้นทางต่างๆ ดังกล่าว โดยเป็น 1 ใน 2 เส้นทางใหม่ โดยอีกเส้นทางคือบ้านไผ่-นครพนม การดำเนินการคาดว่าจะเริ่มได้ในปี 2560 ที่จะถึงนี้ โดยใช้ระยะเวลารวม 2 เส้นทางประมาณ 5 ปี โดยจะเริ่มทำเป็นช่วงๆ ไป และเมื่ออีไอเอผ่านก็จะนำเสนอไปยังสภาพัฒน์ ถ้าบอร์ดสภาพัฒน์ให้ความเห็นชอบก็จะเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติดำเนินการต่อไป” นายวุฒิชาติกล่าว และว่า
สำหรับกรณีประเทศจีนมีการสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมกับแหลมฉบังนั้นถือเป็นรูปแบบรถไฟความเร็วปานกลาง และต้นเดือน เม.ย.นี้ตนก็จะได้เดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนเพื่อหารือเรื่องรายละเอียดกับทางการจีนอีกครั้งหนึ่ง โดยจีนจะใช้เส้นทางที่แบ่งเป็น 4 ตอน คือ จากกรุงเทพฯ-แก่งคอย, แก่งคอย-มาบตาพุด จ.ระยอง, แก่งคอย-นครราชสีมา-ขอนแก่น และนครราชสีมา-หนองคาย เพื่อเชื่อมกับเส้นทางใน สปป.ลาวต่อไป
สำหรับในอนาคตทางจีนก็มีโครงข่ายที่จะเชื่อมในภูมิภาคเหนือนี้อยู่เช่นกันแต่ก็ยังไม่สามารถประเมินว่าจะดำเนินการเมื่อไหร่อย่างไร
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับโครงการรถไฟเด่นชัย-เชียงราย มีการศึกษาจากรัฐบาลไทยมาตั้งแต่ปี 2503 และสำรวจพื้นที่ปี 2512 ใช้เส้นทางเด่นชัย-แพร่-สอง-เชียงม่วน-ดอกคำใต้-พะเยา-ป่าแดด-เชียงราย ระยะทางรวม 273 กิโลเมตร
ต่อมาปี 2537-2538 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทำการทบทวนผลการศึกษาได้ข้อสรุปว่าเส้นทางเด่นชัย-แพร่-สอง-งาว (ลำปาง)-พะเยา-เชียงราย ย่นระยะทางเหลือประมาณ 246 กิโลเมตร ทำให้ในปี 2539-2541 ใช้งบประมาณราว 2.2 ล้านบาท ทาง ร.ฟ.ท.จึงได้ว่าจ้างเอกชนให้สำรวจออกแบบและศึกษาผลกระทบ จนมีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินในปี 2544 กระทั่งปี 2547 รัฐบาลในขณะนั้นได้ให้ศึกษาความเหมาะสมอีก โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้เชื่อมกับจีนตอนใต้ กระทั่งปี 2551 ยังให้ศึกษาเพื่อให้เชื่อมชายแดน จ.เชียงราย และระบบรางของจีนได้
จนถึงปี 2553-2554 จึงเริ่มศึกษารถไฟแบบรางคู่ เพื่อให้มีขนาดกว้างขึ้นเป็น 1.453 เมตร และกรณีเส้นทางใน จ.เชียงราย ให้แยกเส้นทางไปยังท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน และสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว ที่ อ.เชียงของอีกด้วย
ทั้งนี้ แนวเส้นทางล่าสุดที่ศึกษาจึงมีระยะทางรวมประมาณ 323.1 กิโลเมตร กำหนดให้มีทั้งหมด 26 สถานีผ่าน จ.แพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย และมีการเจาะภูเขาเป็นอุโมงค์เพื่อเชื่อมเส้นทาง อ.เชียงของด้วย โดยใช้การศึกษาตั้งแต่กลางปี 2556-2557 ดังกล่าว คาดการณ์กันว่าหากก่อสร้างในปัจจุบันจะใช้งบประมาณเพิ่มมากขึ้นไม่ต่ำกว่า 77,275 ล้านบาท