ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ก.คมนาคมเปิดเวทีรับฟังความเห็นชาวโคราชเดินหน้ารถไฟความเร็วปานกลาง ความร่วมมือไทย-จีน ชี้พัฒนาระบบลอจิสติกส์ขนส่งสินค้าและการค้าสู่อาเซียน ดันโคราชเป็นศูนย์กลางคมนาคมอีสาน-อินโดจีน และเชื่อมโยงระบบลอจิสติกส์กระจายสินค้าสำคัญในภูมิภาค ขณะรถไฟทางคู่ล่าสุดสายมาบกะเบา-จิระ โคราช ผ่าน EIA แล้ว สรุปการก่อสร้างเจาะอุโมงค์ใช้งบร่วม 3 หมื่นล้าน
วันนี้ (1 มี.ค.) ที่โรงแรมดุสิตปริ้นเซสโคราช อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟขนาดรางมาตรฐาน โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนเข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้กว่า 300 คน ทั้งนี้เพื่อให้ความรู้ สร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาโครงการ และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน
นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมามีความตื่นตัวในการพัฒนาจังหวัดให้สอดรับกับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ทั้งโครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟขนาดทางมาตรฐาน และโครงการมอเตอร์เวย์ ที่จะเชื่อมต่อมายัง จ.นครราชสีมา หากประชาชนในพื้นที่ไม่พัฒนาหรือมีแผนรองรับความเจริญที่กำลังจะมาถึงอาจเกิดปัญหาได้ในอนาคต
ฉะนั้นการลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้แก่ประชาชน โดยนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย และมีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ เป็นประตูทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวเชื่อมโยงสู่อินโดจีนและประชาคมอาเซียน เป็นฐานการผลิตและส่งออกข้าวหอมมะลิ ผลิตภัณฑ์จากไหม ศูนย์กลางการพัฒนาพลังงานทดแทน รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ อารยธรรมขอม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
การพัฒนาและปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะระบบรางจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรม การค้า และบริการ เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลเกษตร ซึ่งจะส่งเสริมให้โคราชเป็นศูนย์กลางคมนาคมในภาคอีสาน เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพพัฒนาให้เป็นย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า ได้แก่ สถานีบ้านกระโดน สถานีกุดจิก และสถานีชุมทางบัวใหญ่ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์ของจังหวัดในอีก 10 ปีข้างหน้าให้เป็นประตูเชื่อมโยงระบบลอจิสติกส์ และกระจายสินค้าสำคัญในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสีเขียว ประวัติศาสตร์อารยธรรมขอมและภูมิปัญญาท้องถิ่น
ด้าน นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการก่อสร้างรถไฟขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) มีแนวเส้นทางแบ่งเป็น 4 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ (บางซื่อ)-แก่งคอย ระยะทาง 118 กม. ช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 239 กม. ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 134 กม. และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 354 กม. รวมระยะทางทั้งหมด 845 กม.
โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการก่อสร้างรถไฟขนาดทางมาตรฐาน ตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย ปี 2558-2565 ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเดินทางและขนส่งสินค้าที่ต้องการความเร็วสูงขึ้นในอนาคต และทำให้ประเทศไทยสามารถเชื่อมโยงระบบรางไปถึงจีนได้ โดยผ่าน สปป.ลาว รวมทั้งช่วยสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ และเป็นโอกาสสำคัญในการกระจายความเจริญ และสร้างรายได้สู่ภูมิภาคตลอดแนวเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่าน
ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถสรุปรูปแบบการก่อสร้างและงบประมาณได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ โดยในเส้นทางโคราช-หนองคาย ซึ่งมีข่าวว่าทางจีนเสนอให้สร้างรางเดียวไปก่อนหากมีความจำเป็นค่อยสร้างเพิ่มอีกนั้นเรื่องนี้ยังตกลงกันไม่ได้ และยังมีความเห็นต่างกันอยู่ แต่คาดว่าน่าจะเป็นการก่อสร้างรางคู่ขนานกันในทุกเส้นทาง
นายวรวุฒิกล่าวถึงโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ระยะทาง 131 กม. ซึ่งเป็น 1 ใน 7 เส้นทางตามแผนดำเนินการพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะเร่งด่วนของรัฐบาล โดยมีขนาดรางรถไฟ 1 เมตร (Meter Gauge) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563 โดยล่าสุดแนวทางการก่อสร้างเส้นทางนี้จะมีการเจาะอุโมงค์บริเวณหลังสถานีคลองขนานจิตร บริเวณ กม.198+400 ถึง กม.199+550 และสร้างสะพานสูง และผ่าน EIA เรียบร้อยแล้ว ใช้งบประมาณก่อสร้าง 29,968.62 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลหาผู้รับเหมาและลงมือก่อสร้างได้ในเร็วๆ นี้