xs
xsm
sm
md
lg

ก.คมนาคมลงระยองเดินหน้าทำความเข้าใจ ปชช.หนุนโครงการพัฒนารถไฟไทย-จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ระยอง - กระทรวงคมนาคม เปิดเวทีสร้างความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นโครงสร้างพัฒนารถไฟไทย-จีน หวังยกระดับการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงระบบขนส่งทางรางผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะที่ภาคเอกชนในพื้นที่พร้อมขานรับโครงการ แต่ต้องการให้มีการเลือกจุดตั้งสถานีที่จะวิ่งผ่านพื้นที่ กันผลกระทบด้านการจราจร

วันนี้ (10 มี.ค.) นายมนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ระยอง กล่าวให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมการสัมมนาโครงการสร้างความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เรื่องการพัฒนารถไฟขนาดทางมาตรฐาน ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องบอลรูม โรงแรมโนโวเทล ริมเพ รีสอร์ท อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยมี นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม กล่าวเปิดการสัมมนา และมี นายสุชีพ สุขสว่าง รองวิศวกรใหญ่ด้านบำรุง ฝ่ายการช่างโยธา การรถไฟแห่งประเทศไทย นายวิทยา ชพานนท์ นายอำเภอแกลง นายจำรัส เณรทอง ผู้อำนวยการท่าเรือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้นำชุมชนเข้าร่วม

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟขนาดทางมาตรฐาน ขนาด 1.435 เมตร รวมระยะทาง 845 กิโลเมตร แบ่งเป็น 4 ช่วง คือ ช่วงที่ 1.กรุงเทพฯ (บางซื่อ)-แก่งคอย ระยะทาง 118 กิโลเมตร ช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 239 กิโลเมตร ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 134 กิโลเมตร และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 354 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยเรื่องการขนส่งสินค้า และผู้โดยสารให้มีความสะดวก สบาย และรวดเร็ว สามารถเชื่อมโยงระบบรางผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีนได้

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีแผนดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และรูปแบบการลงทุน คาดว่าผลการศึกษาจะเสร็จในปี 2559 และหากการพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟขนาดทางมาตรฐานช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด และโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง แล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่ง และการกระจายสินค้าระหว่างภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปยังภาคตะวันออก ที่เรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จังหวัดระยอง เป็นฐานการผลิตทางด้านอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งยังเป็นประตูทางออกด้านการขนส่ง ทั้งทางอากาศ และทางน้ำ และเป็นประตูทางออกด้านรางของประเทศ ทั้งนี้ สิ่งที่คนระยอง จะได้รับแน่นอนคือ ความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต เป็นฐานในด้านการพัฒนาให้แก่ประเทศต่อไป

และเมื่อเปิดเออีซี (AEC) จังหวัดระยอง จะเป็นช่องทางอีกช่องทางหนึ่งในการเชื่อมโยงเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านทางด้านฝั่งตะวันออก

ด้านนายสุรพล สุทธจินดา ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้เสนอกรณีที่ตั้งสถานีขนถ่ายสินค้า เช่น เม็ดพลาสติกซึ่งต้องขนในลักษณะเป็นเบ๊าเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านลอจิสติกส์ หรือจุดขนถ่ายภาคเกษตร เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ฯลฯ ไปยังปลายทางที่จังหวัดหนองคาย หรือประเทศเพื่อนบ้าน ที่จะต้องตั้งจุดขนถ่ายภาคเกษตร หรือการเตรียมความพร้อมของขบวนรถที่จะรับสินค้าประเภทของสด จะมีการควบคุมอุณภูมิความเย็นเพื่อให้สินค้ามีความสดไปถึงปลายทางหรือไม่ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องคำนึงถึงในเรื่องนี้ด้วย

ขณะที่ นางอนุชิดา ชินศิรประภา ประธานหอการค้าจังหวัดระยอง กล่าวว่า โครงสร้างรถไฟความเร็วสูงจะเป็นโอกาสสำคัญในการเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ ชาวระยอง เพียงอยากรู้ว่าสถานีรถไฟปลายทางจะสิ้นสุดที่จุดใด เพราะที่ผ่านมา มีการศึกษาเรื่องรถไฟความเร็วสูงที่จะตั้งสถานีที่บริเวณสี่แยกเกาะกลอย ที่เป็นจุดซึ่งเกิดปัญหาน้ำท่วม และมีการจราจรที่หนาแน่น จึงอยากให้ที่ตั้งสถานีรถไฟห่างไกลออกไปจากบริเวณดังกล่าวเพื่อลดปัญหาด้านการจราจร


กำลังโหลดความคิดเห็น