xs
xsm
sm
md
lg

เร่งถอดแบบ “รถไฟไทย-จีน” เคาะค่าก่อสร้าง 3.5 กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” นัดประชุมครั้งที่ 14 คณะกรรมการร่วมรถไฟไทย-จีน สรุปแบบก่อสร้างถอดราคาวัสดุ “ไฮสปีดกรุงเทพฯ-โคราช” ตอนที่ 1 (สถานีกลางดง) เดินหน้าประมูลหาผู้รับเหมาหลัง “ประยุทธ์” คุยนายกฯ จีน ตั้งเป้าตอกเข็มปลายปี 59 ด้าน ร.ฟ.ท.เตรียมชงบอร์ดอนุมัติโครงการ ก.ย.นี้ ก่อนชง ครม.คู่ขนานกัน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีนจะประชุมครั้งที่ 14 ที่ประเทศไทย ในวันที่ 19-21 ก.ย.นี้ โดยตั้งเป้าจะสรุปแบบการก่อสร้าง ตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม. (สถานีกลางดง-ปางอโศก) ให้จบ ซึ่งจีนจะส่งแบบรายละเอียดที่มีการปรับรหัสมาตรฐานวัสดุจากรหัสของจีนมาเป็นรหัสมาตรฐานของไทยเพื่อให้สามารถถอดราคาวัสดุออกมาเป็นค่าก่อสร้างได้ ซึ่งตรงนี้จีนขอ 10 วันหลังจากประชุมร่วมครั้งที่ 13 ที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้จะหารือเพื่อสรุปรายละเอียดของ Engineering Procurement and Construction (EPC) ในส่วนของ EPC-2 ที่ได้ปรับใหม่โดยแยกออกเป็น3 สัญญา คือ EPC-2.1 สัญญางานออกแบบ และ EPC-2.2 สัญญาควบคุมงาน โดยจะเร่งทำส่วนนี้ก่อนเพื่อให้สามารถเริ่มการก่อสร้างได้ และ EPC-2.3 สัญญาจัดหาระบบตัวรถ ระบบอาณัติสัญญาณ ซ่อมบำรุง และฝึกอบรม  

“แบบที่จีนส่งมาไม่ใช่จะรับได้เลย เพราะรหัสมาตรฐานวัสดุของจีนหากไม่เทียบเคียงออกมาจะไม่รู้ว่าตรงกับมาตรฐานของไทยตัวไหน เช่น ปูนซีเมนต์คุณภาพไหน ขนาดเหล็ก เป็นต้น ทำให้ยังไม่รู้ราคาค่าก่อสร้างแต่จะเร่งสรุป เพราะหากรู้ราคาจะเริ่มกระบวนการหาผู้รับจ้างก่อสร้างได้ ซึ่งจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พบประธานาธิบดีจีนในการประชุมผู้นำ G20 ได้หารือความร่วมมือโครงการรถไฟไทย-จีน โดยต้องการให้เริ่มต้นภายในปลายปี 2559 นี้” นายอาคมกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้จีนได้ส่งแบบพร้อมเทียบเคียงรหัสวัสดุของไทยหารือเบื้องต้นกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แล้ว ประเด็นที่ต้องหาความชัดเจนคือ รายละเอียดวัสดุที่จีนกำหนด เช่น คอนกรีต C20 เทียบเคียงกับปูนซีเมนต์ของไทยคือแบบไหน นอกจากนี้ยังมีเหล็ก หินคลุก ดินถม วัสดุทุกรายการที่จะต้องทยอยถอดออกมาว่าตรงกับของไทยแบบไหน

ขณะที่ภายในเดือน ก.ย.นี้ ร.ฟ.ท.จะต้องเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.เพื่อขออนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูง ความร่วมมือไทย-จีน (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กม. จากนั้นจะต้องเสนอมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อสอบถามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง ตามขั้นตอน ก่อนเสนอ ครม.ขออนุมัติ ซึ่งยังเหลือขั้นตอนอีกมากที่ต้องดำเนินการ ขณะที่เป้าหมายตอกเข็มขยับจากเดือน ก.ย.เป็นปลายปี 59 แทน
กำลังโหลดความคิดเห็น