xs
xsm
sm
md
lg

โครงการ Victory ของ ปตท.ชะลอ ดิ้นหาพื้นที่ตั้งโรงงานใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โครงการ Victory ที่เวียดนามของกลุ่ม ปตท.ชะลอออกไปอีก หลังจังหวัด Binh Dinh แจ้งยกเลิกสนับสนุนโครงการ ทำให้ต้องหาพื้นที่ตั้งโครงการโรงกลั่นและปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ใหม่ ยอมรับหากไม่มีพื้นที่เหมาะสมก็ต้องยกเลิกโครงการมูลค่าหมื่นล้านเหรียญฯ ไป

แหล่งข่าวจากบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการโรงกลั่นและปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ (โครงการ Victory) ที่ประเทศเวียดนาม ว่าขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างรอการแจ้งอย่างเป็นทางการจากทางจังหวัด Binh Dinh หลังจากได้รับแจ้งด้วยวาจาว่าจะไม่ส่งเสริมการลงทุนโครงการ Victory เพราะได้เปลี่ยนนโยบายหันไปส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมสีเขียวแทน ทำให้บริษัทต้องหาพื้นที่ใหม่ในการลงทุนโครงการดังกล่าว

ส่งผลให้โครงการนี้ต้องล่าช้าออกไปอีกอย่างน้อย 1 ปี จากเดิมที่โครงการนี้จะใช้เวลาดำเนินการออกแบบ ก่อสร้างจนผลิตเชิงพาณิชย์ใน 6-7 ปี นับจากบริษัทฯ จะเริ่มหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการลงทุนโครงการโรงกลั่นและปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ซึ่งเมื่อหาพื้นที่ใหม่ได้แล้วก็จะต้องมีการศึกษาทบทวนความเป็นไปได้ของโครงการใหม่ (Detailed Feasibility Study) ทั้งด้านลอจิสติกส์ และรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) หลังจากนั้นจะยื่นเรื่องขออนุมัติการลงทุนโครงการดังกล่าวใหม่

หลังจากนั้นบริษัทฯ ก็จะหาพันธมิตรร่วมทุนในโครงการนี้เพิ่ม หลังจากทาง Saudi Aramco ได้ถอนตัวจากการลงทุนไปช่วง ก.ค. 2559 รวมทั้งจัดหาเงินกู้เพื่อพัฒนาโครงการนี้

อย่างไรก็ตาม หากบริษัทฯ ไม่สามารถหาพื้นที่เหมาะสมเพื่อลงทุนโครงการ Victory ได้ก็คงต้องยกเลิกโครงการดังกล่าวไป ซึ่งเดิมทางกลุ่ม ปตท.สนใจลงทุนโครงการโรงกลั่นและปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ที่เวียดนาม เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าเม็ดพลาสติกจำนวนมากในแต่ละปี เพราะโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกในเวียดนามไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้แม้ว่าโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในเวียดนามจะเกิดขึ้นก็ตาม

โครงการ Victory ทาง ปตท.ได้มอบหมายให้ไออาร์พีซีศึกษาโครงการเบื้องต้นใหม่หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงและแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันจะลดลงจากการพัฒนารถไฟฟ้า โดยได้ปรับลดขนาดโครงการลงจากเดิมที่ลงทุนโรงกลั่นน้ำมัน 4 แสนบาร์เรล/วัน เหลือเพียง 2 แสนบาร์เรล/วัน โดยจะมีผลผลิตเป็นน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยาน รวม 7-8 หมื่นบาร์เรล/วัน หรือราว 35-40% เท่านั้น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตโอเลฟินส์ขนาด 3 ล้านตัน/ปี และอะโรเมติกส์ 1.4 ล้านตัน/ปี ใช้เงินลงทุน 1-1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ระดับ 12-14%
กำลังโหลดความคิดเห็น