xs
xsm
sm
md
lg

IRPC ชี้โครงการปิโตรฯ ที่เวียดนามฝืด เจออุปสรรคเพียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สุกฤตย์” บิ๊กไออาร์พีซีบินด่วนหารือหน่วยงานในจังหวัดบินห์ดินห์ ที่เวียดนาม หลังจังหวัดส่อแววเปลี่ยนนโยบายไม่ส่งเสริมโครงการโรงกลั่นและปิโตรฯ มูลค่า 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ชี้ปลายปีนี้รู้ผลว่าจะต้องหาที่ตั้งโครงการใหม่หรือไม่

นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการโรงกลั่นและปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ที่ประเทศเวียดนามว่า ในสัปดาห์นี้จะเดินทางไปเวียดนามเพื่อเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดบินห์ดินห์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการว่าจะยังสนับสนุนโครงการดังกล่าวหรือไม่ หลังจากจังหวัดอาจเปลี่ยนแปลงนโยบายให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว คาดว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้ภายในปลายปี 2559

หากจังหวัดบินห์ดินห์ให้การส่งเสริมโครงการดังกล่าวต่อไป บริษัทฯ ก็จะศึกษาโครงการอย่างละเอียดพร้อมทั้งหาพันธมิตรร่วมทุนใหม่ในโครงการนี้ หลังจากซาอุดิ อารัมโก ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของโลกถอนตัวไป โดยกลุ่ม ปตท.ยังคงสัดส่วนการถือหุ้น 50% และไม่จำเป็นต้องมีพันธมิตรท้องถิ่นเข้าร่วมทุนเหมือนในอดีตเพราะมีการลดขนาดโครงการลงทุนลง คาดว่าโครงการดังกล่าวจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2566-2567

อย่างไรก็ตาม ถ้าจังหวัดบินห์ดินห์ไม่ส่งเสริมการลงทุนโครงการดังกล่าวก็คงต้องมองหาทำเลใหม่ที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้โครงการมีความล่าช้าออกไป เนื่องจากต้องศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการใหม่อีกครั้ง จากเดิมที่โครงการดังกล่าวมีความล่าช้ามาระยะหนึ่งนับตั้งแต่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลางเมื่อปี 2557 และราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงมีผลทำให้ซาอุดิอารัมโกได้ถอนตัวจากการลงทุนไป ดังนั้น ปตท.จึงมอบหมายให้ไออาร์พีซีเข้าทบทวนการลงทุนโครงการดังกล่าวใหม่

นายสุกฤตย์กล่าวต่อไปว่า หากทางบินห์ดินห์ไม่สนับสนุนโครงการนี้และบริษัทไม่สามารถหาที่ตั้งโครงการที่เหมาะสมได้ก็คงต้องยกเลิกการลงทุนในเวียดนาม แล้วหันมาทบทวนการลงทุนโครงการผลิตพาราไซลีน (PX) ขนาดกำลังการผลิต 9 แสนตัน/ปีในประเทศไทยแทน เงินลงทุน 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยโครงการนี้จะนำวัตถุดิบจากโครงการ UHV มาต่อยอด

สำหรับผลการศึกษาการลงทุนโครงการโรงกลั่นและปิโตรฯ ที่เวียดนาม หรือโครงการ Victory Project Reconfiguration จะใช้เงินลงทุน 1-1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันขนาด 2 แสนบาร์เรล/วัน โดยจะมีผลผลิตเป็นน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยาน รวม 7-8 หมื่นบาร์เรล/วัน หรือราว 35-40% เท่านั้น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตโอเลฟินส์ขนาด 3 ล้านตัน/ปี และอะโรเมติกส์ 1.4 ล้านตัน/ปี เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกทั้ง LLDPE, HDPE, PP, PX, Benzene, Butadiene เป็นต้น คาดว่าจะสร้างกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ระดับ 25-30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ระดับ 12-14%
กำลังโหลดความคิดเห็น