“ไทยออยล์” พับแผนลงทุนต่างประเทศทั้งอินโดนีเซีย-พม่า หลังการศึกษาพบว่าไม่คุ้มค่าการลงทุน ย้ำการเติบโตของไทยออยล์นับจากนี้มาจากการลงทุนในประเทศ โดยล่าสุดอยู่ระหว่างศึกษาโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพน้ำมัน (Clean Fuel Project)
นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้ยุติแผนการลงทุนร่วมทุนกับเปอร์ตามิน่า ลงทุนโครงการผลิต Wax ที่ประเทศอินโดนีเซีย หลังจากผลการศึกษาไม่คุ้มค่าการลงทุนหรือผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ต่ำกว่า14% โดยก่อนหน้านี้ทางไทยออยล์คาดหวังว่าจะได้เข้าไปลงทุนโครงการนี้ หลังจากไม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ที่เข้าไปลงทุนปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันที่อินโดนีเซีย
เช่นเดียวกับโครงการปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันที่ Thanlyin ในพม่า ที่รัฐบาลเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าไปปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพการกลั่นที่ดีขึ้นจากเดิมที่มีกำลังการกลั่น 2 หมื่นบาร์เรล/วัน แต่เดินเครื่องจักรไม่เต็มที่ โดยบริษัทเห็นว่าโครงการนี้ให้ผลตอบแทนการลงทุนไม่คุ้มค่าเช่นกันจึงไม่ได้เสนอตัวเข้าลงทุน
อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังมองเห็นโอกาสที่จะลงทุนในพม่า ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่า (จีทูจี)ในด้านพลังงานทั้งไฟฟ้า โรงกลั่นและปิโตรเคมี คงต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐต่อไป
นับจากนี้ไปการเติบโตของไทยออยล์จะมาจากการลงทุนในประเทศไทยเป็นหลัก ซึ่งบริษัทฯ มีแผนลงทุนโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพน้ำมัน (Clean Fuel Project) โดยอัปเกรดน้ำมันเตาเป็นน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานที่มีราคาสูงกว่า และการขยายกำลังการกลั่นน้ำมันจาก 2.75 แสนบาร์เรล/วัน เพิ่มเป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาการออกแบบด้านวิศวกรรม คาดว่าจะได้ข้อสรุปในกลางปี 2560 ใช้เงินลงทุนประมาณ 3- 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อรองรับนโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพราะจังหวัดชลบุรีอยู่ในพื้นที่ EEC ที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนจะขยายกำลังการผลิตสารLinear Alky l Benzene (LAB) ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผงซักฟอกและสารซักล้างด้วยหากความต้องการใช้ในภูมิภาคนี้เพิ่มสูงขึ้นด้วย
วันนี้ (3 ส.ค.) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โรงงานผลิตสาร LAB และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) 2 โครงการ กำลังผลิตรวม 239 เมกะวัตต์อย่างเป็นทางการ โดยโครงการผลิตสาร LAB เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท ไทยพาราไซลีน ซึ่งเป็นบริษัทลูก กับบริษัท มิตซุย แอนด์คัมปนี จำกัด ประเทศญี่ปุ่นตั้งบริษัท ลาบิกซ์ จำกัด ใช้เงินลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท กำลังการผลิต 1 แสนตัน/ปี โดยโครงการ LAB จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มแก่ไทยออยล์คิดเป็นค่าการกลั่นรวม (GIM) เพิ่มขึ้น 0.40 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
ปัจจุบันโครงการผลิต LAB เดินเครื่องจักรเต็มกำลังการผลิต เนื่องจากความต้องการใช้สาร LAB เติบโตในภูมิภาคนี้ โดยปี 2559 บริษัทฯ วางเป้าหมายจำหน่ายในประเทศ 20-25% ของกำลังการผลิต ที่เหลือส่งออกไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย โดยต้นทุนการผลิตแข่งขันกับโรงงานผลิต LAB ที่อินโดนีเซียได้อย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นผลิตแบบครบวงจรโดยต่อยอดจากโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานผลิตพาราไซลีน (Fully integrated) ทำให้มีต้นทุนต่ำและมีพันธมิตรอย่างมิตซุยช่วยทำตลาดส่งออก
นายอธิคมกล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลที่จะประกาศยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ในวันที่ 1 มกราคม 2561 โดยไทยออยล์ปรับระบบกลั่นโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มแต่อย่างใด แต่ก็ยอมรับว่าอาจจะต้องส่งออกน้ำมันพื้นฐาน 91 บ้างไม่มาก ส่วนราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบที่ลดลงต่ำกว่า 40 ดอลลาร์/บาร์เรล ที่ล่าสุดอยู่ที่ 38.79 ดอลลาร์/บาร์เรล คาดว่าเป็นการชั่วคราว และคาดว่าราคาเฉลี่ยในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 45-50 ดอลลาร์/บาร์เรล
นายทาคุ โมริโมโตะ กรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจเพอฟอร์แมนซ์แมททีเรียล บริษัท มิตซุยแอนด์คัมปนี จำกัด กล่าวว่า การจะขยายกำลังผลิตสาร LAB เพิ่มเติมหรือไม่นั้น คงจะดูการตลาดเป็นสำคัญ ซึ่งในปี 2559 ความต้องการในภูมิภาคอาเซียนขยายตัว 4-5% หรือมีความต้องการราว 4.3 แสนตัน/ปี ส่วนในไทยมีความต้องการ 7.6 หมื่นตัน/ปี ทั่วโลกมีความต้องการ 3.3 ล้านตัน/ปี โดยโครงการนี้วางเป้าหมายจำหน่ายในประเทศ 60% ของกำลังผลิตรวม