พีทีที โกลบอลฯ จ่อเลิกสัญญาขายแนฟทาให้กลุ่ม SCC หวังนำมาใช้เป็นวัตถุดิบแทนก๊าซฯ ดันกำลังผลิตโรง PTTPE เพิ่ม 30% และต่อยอดปิโตรเคมีขั้นปลายที่อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดที่จะมีความชัดเจนในปลายปีหน้า มั่นใจกำไรปี 59 ดีกว่าปีนี้ เหตุมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น 7% และราคาน้ำมันดิบขยับสูงขึ้น
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ (Map Ta Phut Retrofit) โดยใช้แนฟทาที่มีอยู่มาเติมต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์พลาสติกว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษานำแนฟทาที่มีอยู่ 1.4 ล้านตันมาเป็นวัตถุดิบในโรงโอเลฟินส์แครกเกอร์เดิมที่เคยใช้ก๊าซฯ เป็นวัตถุดิบ ขณะเดียวกันก็จะขยายกำลังการผลิตคอขวดในโรงงานผลิตเอทิลีน 1 ล้านตันของบริษัท พีทีที โพลีเอทิลีน จำกัด (PTTPE) ทำให้มีกำลังการผลิตเอทิลีนเพิ่มขึ้นอีก 30% หรือประมาณ 3 แสนตัน/ปี คาดว่าจะได้ข้อสรุปเม็ดเงินลงทุนและสัดส่วนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จะได้จากการใช้แนฟทาในปลายปีนี้
นอกจากนี้ บริษัทฯ ก็ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากแนฟทาทั้งโพรพิลีนและบิวทาไดอีนมาต่อยอดโครงการปิโตรเคมีขั้นปลาย (ดาวน์สตรีม) เช่น เม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีน (PP), โครงการอะคริลิกแอซิดเพื่อผลิต SAP, โครงการสไตรีนโมโนเมอร์ (SM), โครงการผลิต SSBR/TPE/PBR โครงการ ABS/SAN โดยจะสรุปคัดเลือกการลงทุนดาวน์สตรีมว่ามีโครงการใดบ้างในกลางปี 2559 พร้อมกับหาพันธมิตรร่วมทุนโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ โครงการ Map Ta Phut Retrofit คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปลายปี 2562 โดยมีพื้นที่เตรียมพร้อมการลงทุนไว้แล้ว
“ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงทำให้ราคาแนฟทาปรับตัวลงตามไปด้วย ดังนั้นบริษัทฯ จึงมีแผนที่จะใช้แนฟทาที่มีอยู่มาต่อยอดการผลิตโครงการดาวน์สตรีมจากเดิมที่ส่งออกและขายให้เครือปูนซิเมนต์ไทย (SCC) คิด 80% ของปริมาณ 1.4 ล้านตัน ซึ่งมีสัญญาซื้อขายปีต่อปี โดยหากบริษัทไม่ขายแนฟทาให้ SCC ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อโรงงานของ SCC เพราะสามารถนำเข้าแนฟทาจากตลาดโลกได้ ที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับ SCC ในเรื่องนี้แล้ว” นายปฏิภาณ สุคนธมาน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTGC กล่าว
ส่วนโครงการโพลียูรีเทน (PU Chain) ที่อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการผลิตโพรพิลีนออกไซด์ (PO) และโพลีออล (Polyols) กับพันธมิตรโตโยต้า ทูโช คอร์ปอเรชั่น คาดว่าจะมีความชัดเจนในกลางปี 2559 โดยโครงการดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนรวม 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3.5 หมื่นล้านบาท โดยจะตั้งโรงงานในนิคมฯ มาบตาพุด จ.ระยอง
นายสุพัฒน์พงษ์กล่าวต่อไปว่า โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐอเมริกา เงินลงทุน 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดการลงทุน แหล่งวัตถุดิบและพันธมิตรร่วมทุนที่มีศักยภาพ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในกลางปี 2559 โดยเบื้องต้นมั่นใจว่ามูลค่าโครงการจะต่ำกว่า 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐหลังให้ผู้รับเหมา 2รายประเมินมูลค่าการลงทุนมา ส่วนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในอินโดนีเซียนั้นอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โครงการในพื้นที่ใหม่แทนเมืองบาลองกัน ส่งผลให้โครงการดังกล่าวเลื่อนออกไปอย่างน้อย 1 ปี
สำหรับเม็ดเงินลงทุนของบริษัทใน 5 ปีนี้ (2559-2563) วางไว้ที่ 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพียงพอที่จะลงทุนโครงการใหม่ๆ ดังกล่าวข้างต้นที่จะใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 7.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากเป็นโครงการโปรเจกต์ไฟแนนซ์และมีพันธมิตรมาร่วมทุนด้วย
นายปฏิภาณกล่าวถึงผลการดำเนินงานบริษัทฯ ในปี 2559 ว่า บริษัทฯ จะมีกำไรเพิ่มขึ้นจากปีนี้ แม้ว่าปีหน้าจะมีการปิดซ่อมบำรุงใหญ่โรงโอเลฟินส์แครกเกอร์และโรงกลั่นน้ำมันเป็นเวลา 40 วัน เนื่องจากมีกำลังการผลิตปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้น 7% ในโครงการขยายกำลังการผลิตฟีนอล 2.5 แสนตัน/ปี โครงการขยายคอขวดอะโรเมติกส์ 2 มีกำลังผลิตพาราไซลีนเพิ่ม 1.15 แสนตัน/ปี และโครงการเอทิลีนออกไซด์ เพิ่มอีก 9 หมื่นตัน/ปี รวมทั้งราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ระดับ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และมาร์จิ้นเม็ดพลาสติก HDPE อยู่ที่ 700 เหรียญสหรัฐ/ตัน ผลดำเนินงานไตรมาส 3/2559 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1.21 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7.65 พันล้านบาท
นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า จากเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมที่ฝรั่งเศสนั้นยืนยันไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทร่วมทุน VENCOREX ที่มีโรงงานผลิตวัสดุตั้งต้นสายโพลียูรีเทน ตั้งอยู่ที่เมือง Lyon อยู่ทางตอนใต้ฝรั่งเศส ห่างจากกรุงปารีสกว่า 100 กม. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โรงงานดังกล่าวได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในระดับสูงสุดแล้ว