“ไทยออยล์” ปิ๋วโครงการปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมัน Thanlyin หลังพม่าแจ้งไม่เลือกใครเข้ามาปรับปรุงโรงกลั่นดังกล่าว รอลุ้นผุดโรงกลั่นน้ำมันใหม่ที่ทวายหลังจากมีการลงนามจีทูจี ส่วนแผนร่วมทุนกับเปอร์ตามิน่าผุดโครงการผลิต Wax ส่อแววล้ม เหตุต้นทุนการผลิตสูง
นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) เปิดเผยว่า บริษัทได้รับแจ้งจากทางเมียนมาร์ ปิโตรเลียม เอนเตอร์ไพรส์ (MEP) ตัดสินใจไม่เลือกบริษัทใดๆ เข้ามาปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมัน Thanlyin ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กและเก่าอยู่ในเมืองร่างกุ้ง ส่วนจะมีการประกาศเงื่อนไขใหม่หรือไม่นั้นคงต้องรอการตัดสินใจจากรัฐบาลใหม่ของพม่าที่จะมีการเลือกตั้งในปลายปีนี้
ก่อนหน้านี้ทาง ปตท. กับไทยออยล์จับมือยื่นข้อเสนอในการปรับปรุงโรงกลั่นดังกล่าวเพื่อให้เดินเครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพและกลั่นน้ำมันได้เต็มที่ 2 หมื่นบาร์เรล/วัน พร้อมทั้งเสนอจะเป็นผู้จัดหาน้ำมันดิบ การกลั่น และการจัดหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปให้ผู้ค้าน้ำมันในพม่าด้วย โดยจะตั้งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลพม่า ปตท. และไทยออยล์
“ไทยออยล์กับ ปตท.ได้ยื่นข้อเสนอปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมัน Thanlyin เพื่อให้กลับมากลั่นน้ำมันได้อย่างเต็มที่ แต่ด้วยขนาดและอายุโรงกลั่นดังกล่าวนั้นไม่คุ้มการลงทุน แต่เรามองโอกาสที่จะได้สร้างโรงกลั่นน้ำมันใหม่ที่มีขนาดคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ควรอยู่ที่ 2 แสนบาร์เรล/วัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่เดียวกัน”
นายอธิคมกล่าวต่อไปว่า แม้ว่าจะไม่ได้รับเลือกให้เข้าไปปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันที่พม่า แต่จากกรณีที่รัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่า (จีทูจี) ได้ลงนามสัญญาพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยหนึ่งในนั้นความตกลงเรื่องพลังงานทั้งไฟฟ้า โรงกลั่นและปิโตรเคมีด้วย ซึ่งมองว่าน่าจะมีโอกาสความเป็นไปได้ที่ไทยออยล์จะเป็นผู้ที่เข้าไปพัฒนาโรงกลั่นน้ำมันที่นิคมฯ ทวายในอนาคต ซึ่งถือเป็นการยกระดับจากเอกชนต่อเอกชนเป็นระดับรัฐต่อรัฐ
ทั้งนี้ หากตั้งโรงกลั่นน้ำมันที่ทวายก็มีความเป็นไปได้ที่จะวางท่อส่งน้ำมันเชื่อมต่อมายังฝั่งไทยเพื่อนำน้ำมันสำเร็จรูปส่งไปขายที่ลาว กัมพูชา และจีนได้ด้วย ขณะเดียวกัน น้ำมันดิบก็จะนำเข้าจากตะวันออกกลางมีค่าขนส่งถูกกว่า ขณะเดียวกันอาจต่อยอดไปถึงปิโตรเคมีได้ ส่วนจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้อย่างไรคงต้องหารือกับกระทรวงพลังงานต่อไป
ส่วนความคืบหน้าโครงการผลิตผลิตภัณฑ์ Wax ในประเทศอินโดนีเซียที่จะร่วมทุนกับเปอร์ตามิน่า รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของอินโดนีเซียนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ หากพบว่าเงินลงทุนสูงและผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ต่ำกว่าที่ตั้งไว้ 14% ก็คงต้องหยุดการลงทุนดังกล่าวไว้
นายอธิคมกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการขยายกำลังการกลั่นน้ำมันเป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน จากปัจจุบันกลั่นอยู่ 2.75 แสนบาร์เรล/วันว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการออกแบบขั้นพื้นและจะออกแบบเชิงวิศวกรรมในต้นปีหน้า คาดว่าจะเปิดประมูลก่อสร้างได้อย่างเร็วกลางปีหน้า โดยโครงการนี้จะเพิ่มมูลค่าน้ำมันเตาเป็นน้ำมันสำเร็จรูป (Residue Upgrading) และติดตั้งหน่วยกลั่นน้ำมันดิบใหม่ที่ 4 (CDU 4) แทน CDU 1-2ที่ใช้มานาน ทำให้โรงกลั่นไทยออยล์สามารถกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2.75 แสนบาร์เรล/วัน เป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน
ขณะเดียวกันจะมีผลพลอยได้ คือ แนฟทาหนัก (heavy naphtha) มาต่อยอดทำโครงการผลิตพาราไซลีนร่วมกับทางไออาร์พีซีที่ได้มีแนฟทาหนักจากโครงการ UHV ที่จะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ โดยเบื้องต้นโครงการขยายกำลังการกลั่นเพิ่มเป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 3-4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และก่อสร้างแล้วเสร็จใน 4-5 ปี