“สมคิด” เคาะทีโออาร์รถไฟทางคู่หลังปรับปรุงใหม่ที่เปิดกว้างมากขึ้น รอชงบอร์ดไฟเขียวเร่งเปิดประมูลช่วงประจวบฯ-ชุมพร ใน พ.ย.นี้ เชื่อโปร่งใสขึ้น มั่นใจทางคู่ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทางเปิดประมูลในปีนี้ พร้อมเร่งเฟส 2 อีก 7 เส้นทาง เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายลอจิสติกส์ พร้อมสั่งทำแผนแม่บทระยะ 10 ปี วางผังการพัฒนารถไฟทุกมิติ ตั้งหน่วยบริหารทรัพย์สินแบบมืออาชีพ หารายได้เพิ่ม
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายให้คณะกรรมการ (บอร์ด) และผู้บริหาร การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ว่า ได้ติดตามการดำเนินโครงการรถไฟในปัจจุบันและแผนงานในอนาคต ซึ่งในส่วนของโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 995 กม. ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 สาย ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว 2 สายที่เหลือรอเสนอ ครม.นั้น ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ยืนยันว่าจะดำเนินการประกวดราคาได้ในปลายปี 2559
ส่วนร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) นั้นได้ปรับปรุงเงื่อนไขเสร็จแล้ว ซึ่งจะเปิดกว้างให้เสนอราคาแข่งขันทั้งบริษัทในประเทศและต่างประเทศได้มากรายขึ้น และอยู่ในขั้นตอนเสนอบอร์ด ร.ฟ.ท.เห็นชอบในเดือน ต.ค. และจะเปิดประมูลช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ในเดือน พ.ย. ซึ่งได้เร่งรัดให้บอร์ดประชุมเร็วขึ้นเพื่อเร่งการประมูล และจะบรรจุในข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ซึ่งจะต้องมีบุคคลภายนอก เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าร่วมตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้เกิดความโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่น และศรัทธาการทำงานของรถไฟ
นอกจากนี้ยังมีรถไฟทางคู่ระยะ 2 อีก 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,493 กม. และรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง ระยะทาง 673 กม. สายเหนือ เด่นชัย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. และสายตะวันออกเฉียงเหนือ บ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 347 กม. ที่มีแผนดำเนินโครงการในปี 2560 ซึ่งรถไฟทางคู่เป็นโครงข่ายที่สำคัญในการขนส่งสินค้า และการเชื่อมต่อระบบลอจิสติกส์ให้เกิดการเชื่อมโยง ดังนั้น ร.ฟ.ท.จะต้องให้ความสำคัญพยายามผลักดันให้คืบหน้า
สำหรับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิตนั้น จะเปิดเดินรถได้ในปี 2563 ซึ่งได้ให้นโยบายในส่วนของสายสีแดงต่อขยาย ให้พิจารณาการลงทุนรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เพื่อลดการลงทุนภาครัฐ นอกจากนี้ ให้เร่งรัดโครงการที่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ให้เร่งรัดส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-ระยอง และสายกรุงเทพฯ-หัวหิน ซึ่งจะเสนอ ครม.ได้ในปีนี้ โดยเฉพาะสายกรุงเทพฯ-ระยอง เป็นโครงการหนึ่งในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งได้ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาเรื่องการพัฒนาสถานีให้เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาและการพัฒนา EEC พร้อมกันนี้ให้รถไฟจัดทำเส้นทางรถไฟทางคู่ ควบคู่ไปกับแนวรถไฟความเร็วสูงและถนนของกรมทางหลวง (ทล.) จะต้องเชื่อมโยงกับ EEC ด้วย เพื่อให้โครงข่ายมีความสมบูรณ์
นายสมคิดกล่าวว่า ร.ฟ.ท.ต้องมีแผนยุทธศาสตร์ หรือแผนแม่บทในระยะยาว ซึ่งให้ ร.ฟ.ท.ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในการทำแผนยุทธศาสตร์รถไฟ ระยะ 10 ปี เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาทั้งการเดินรถที่สามารถยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพทำให้รายได้เพิ่มขึ้น, การบริหารทรัพย์สินที่มีกว่า 6 แสนล้านบาท และที่ดินในย่านทำเลทอง แต่มีการใช้ประโยชน์น้อย จะต้องตั้งหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาช่วยสร้างรายได้เพิ่มจากที่ดิน ทั้งการปรับอัตราค่าเช่า หรือการให้เอกเชนร่วมทุน โดยไม่มีการขายทรัพย์สิน ส่วนพื้นที่ข้างทางรถไฟ ควรร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) พัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยได้
“การทำแผนแม่บท 10 ปี จะทำให้เห็นแนวทางการพัฒนาการเพิ่มรายได้ และจะเห็นงบการเงิน รายละเอียด รายได้ รายจ่ายจะชัดขึ้น ซึ่งงบการเงินของรถไฟจะแข็งแรงขึ้นกว่าที่ผ่านมา ซึ่งฐานะการเงินมีหนี้มาก การหารายได้ไม่ดี ทำให้ขาดทุนสะสมถึง 8 หมื่นล้าน แผน 10 ปี จะเห็นอนาคตรถไฟ การเพิ่มรายได้ และเห็นรถไฟ 4.0 มิติใหม่รถไฟต้องโปร่งใส”
ส่วนเรื่องการเบิกจ่ายในปี 2559 ทำได้ที่ 52% ต่ำกว่าเป้า ซึ่งในปี 2560 งบลงทุน ร.ฟ.ท.สูงมาก ดังนั้นบอร์ด ร.ฟ.ท.ได้วางแผนเร่งรัดการเบิกจ่ายตั้งแต่ไตรมาส 1/60 คาดว่าน่าจะดีขึ้น