“อาคม” เผยทีโออาร์ประมูลรถไฟทางคู่ ต้องเปิดกว้างเอื้อประโยชน์เฉพาะรายไม่ได้ ร.ฟ.ท.ต้องรอบคอบ พร้อมเปิดทางเอกชนยื่นข้อเสนอลงทุน ไฮสปีดกรุงเทพ-หัวหิน ขยายถึงสุราษฎร์ เพื่อความคุ้มค่า เตรียมชง กก.PPP พิจารณา ขณะที่ระดมสมองวาง 5 ยุทธศาสตร์ทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาระบบคมนาคมระยะ 20 ปี
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประกวดราคาโครงการรถไฟทางคู่ ในแผนระยะเร่งด่วนปี 2559 ที่ยังล่าช้านั้นเนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) ซึ่งจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นตามขั้นตอนและปรับทีโออาร์ให้เป็นที่ยอมรับและเปิดกว้างเนื่องจากการประกวดราคาจะกำหนดเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์กับกลุ่มใด หรือรายใดรายหนึ่งไม่ได้ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะต้องดูรายละเอียดให้รอบคอบ
จ่อขยายไฮสปีดกรุงเทพ-หัวหิน-สุราษฎร์ฯ ชง กก.PPP เปิดกว้างเอกชนยื่นข้อเสนอ
นอกจากนี้ รมว.คมนาคมยังกล่าวว่า ได้หารือกับรัฐมนตรีของมาเลเซียในความร่วมมือการพัฒนาระบบรางเชื่อมต่อระหว่าง2 ประเทศซึ่งได้ยืนยันแผนการพัฒนารถไฟทางคู่ของไทย เส้นทางจากกรุงเทพลงสู่ภาคใต้ ซึ่งแผนล่าสุดเส้นทางจะไปถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และในปี 60 จะต่อขยายเส้นทางไปจังหวัดชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่ และช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ซึ่งช่วงนี้จะเป็นระบบรถไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟมาเลเซียบนรางขนาด 1 เมตร โดยไทยจะพัฒนาสถานีปาดังเบซาร์ และมาเลเซียจะมีการขยายสถานีขนส่งสินค้าฝั่งมาเลเซีย
สำหรับในส่วนของรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน ตามแผนจะต่อขยายถึงภาคใต้เพื่อเชื่อมกับมาเลเซีย โดยจะมีการศึกษาเป็นระยะๆ ทั้งนี้ ในส่วนของการลงทุนเฟสแรกช่วงกรุงเทพ-หัวหินนั้นจะเสนอคณะกรรมการ PPP เพื่อเปิดกว้างสำหรับการต่อขยายจากหัวหิน-สุราษฎร์ธานีได้หากเอกชนมีข้อเสนอในการลงทุนเข้ามา เนื่องจากการประเมินพบว่าหากก่อสร้างถึงสุราษฎร์ธานีจะมีความคุ้มค่าการลงทุนและการเงินมากกว่าทำถึงหัวหิน โดยในระยะต่อไปจะสามารถพัฒนาขยายจากสุราษฎร์ฯ ไปถึงชายแดนไทย เพื่อเชื่อมต่อกับมาเลเซียได้ ขณะนี้ทางมาเลเซียมีความร่วมมือกับสิงคโปร์ในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเช่นกัน
วาง 5 ยุทธศาสตร์แผนพัฒนาระบบคมนาคม ระยะ 20 ปี
ขณะที่เมื่อวันที่ 9 ก.ย. นายอาคมได้เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อระดมสมองและรับฟังความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง และหัวหน้าหน่วยงานส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ต่อ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี โดยระบุว่าแผนพัฒนาคมนาคมจะต้องสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560-2579 ซึ่งมี ยุทธศาสตร์ 5 ข้อ 1. การบูรณาการโครงการคมนาคมขนส่ง ให้มีความเชื่อมโยงกัน เช่น โครงการท่าเรือจะต้องมองโครงข่ายถนนเพื่อเชื่อมเข้าสู่ท่าเรือด้วย หรือพัฒนาสนามบินต้องมีระบบขนส่งเชื่อมสนามบินด้วย เป็นต้น 2. การพัฒนาบริการขนส่งสาธารณะ เช่น เร่งรัดโครงข่ายรถไฟฟ้า และรถไฟ นอกจากนี้ยังครอบคลุมไปถึงบริการที่สร้างรายได้ให้กับภาครัฐ เช่น การบินไทย หรือท่าเรือ 3. ปฏิรูปองค์กร กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ เช่น การแยกบทบาทของหน่วยงานกำกับนโยบาย(Regulator) กับหน่วยงานปฏิบัติ (Operator) ออกจากกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ 4. การพัฒนาบุคลากรด้านคมนาคมซึ่งปัจจุบันระบบรางมีความขาดแคลน จึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับเทคโนโลยี 5. พัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจะมีการเปลี่ยนผ่านระบบคมนาคมขนส่งรูปแบบเดิม เช่น รถไฟดีเซล ยกระดับเป็นรถไฟใช้ไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมการก่อสร้างที่ทันสมัยและปลอดภัยต่างๆ การนำข้อมูลการเดินทางต่างๆ มาจัดระบบการจราจรที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น
โดยจะดำเนินการภายใต้เป้าหมาย 3 ประการ คือ 1. ระบบคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ (Transport Efficiency) 2. การขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transport) มุ่งเน้นการลดใช้พลังงานฟอสซิล ปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานทางเลือก 3. การเข้าถึงระบบขนส่งอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม (Inclusive Transport) การยกระดับการขนส่งให้สามารถรองรับผู้ใช้งานได้ทุกกลุ่ม
ทั้งนี้ ในการดำเนินงานจะแบ่งออกเป็นระยะๆ ละ 5 ปี (2560-2565)ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 8 ปี (2558-2565) ที่เน้นขับเคลื่อนโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่นรถไฟฟ้า 10 สาย ซึ่งจะทยอยเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2559 และเสร็จสมบูรณ์ครบในปี 2565 นอกจากนี้จะเร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะเร่งด่วน 6 เส้นทาง ตามแผนปฏิบัติการ ปี 59 (Action Plan) และในอีก 5 ปีต่อไปจะมีรถไฟทางคู่อีก 6 เส้นทาง โดยจะบรรจุในแผนปฏิบัติการ ปี 60
“เป้าหมายและตัวชี้วัด เช่น การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต้องพัฒนาระบบขนส่งเพื่อลดการปล่อยพลังงานฟอสซิล ปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดหรือไฟฟ้าแทน ซึ่งปัจจุบันภาคการขนส่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ 70 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป้าหมายคือต้องลดลงการปล่อยคาร์บอนฯภาคขนส่งลง 20% ทุกๆ ปี หรือลดการใช้พลังงานในภาคขนส่งลง ซึ่งปัจจุบันใช้ถึง 40% ของการใช้พลังงานทั้งหมด”