ล็อกสเปกทีโออาร์รถไฟทางคู่เขย่าเก้าอี้ “ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.” เหตุทำนโยบายรัฐบาล และ คสช.ติดหล่ม หลุดเป้า ยื้อทีโออาร์ประมูลรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางจนงานหลุดโค้งเป้าหมายปี 2559 “สตง.-คตร.” สั่งทบทวนทีโออาร์ แก้ปัญหาล็อกสเปกปิดกั้นแข่งขัน เหตุผิดระเบียบ กวพ. และส่อทำรัฐสูญงบเกินจริง 20-30%
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี (2560-2564) โดยอยู่ระหว่างเร่งรัดโครงการตามแผนปฏิบัติการระยะที่ 2 (Action Plan) และเตรียมทำแผนระยะที่ 3 ซึ่งจะมีการลงทุนระบบรางของประเทศครั้งใหญ่ที่สุด โดยมีแผนฟื้นฟูการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ปฏิรูปองค์กรให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาบริการ เพื่อเพิ่มรายได้จากการโดยสารและสินค้า การพัฒนาที่ดิน เพื่อเปลี่ยนการขนส่งจากถนนมาสู่ราง
โดยแผนงานสำคัญคือ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทาง โดยนโยบายกำหนดให้ลงนามสัญญาก่อสร้างภายในปี 2559 ซึ่งขณะนี้มีการลงนามสัญญาไปแล้ว 2 เส้นทาง คือ ทางคู่ช่วงคลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กม. วงเงินประมาณ 10,232 ล้านบาท และช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. วงเงินประมาณ 23,802 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 5 เส้นทางอยู่ในกระบวนการอนุมัติ
ทั้งนี้ ทางคู่ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 17,249.90 ล้านบาทนั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2559 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดประกวดราคาได้ ซึ่งโครงการถูกร้องเรียนเรื่องการล็อกสเปกอย่างหนัก โดยมีหนังสือจากสหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทยส่งถึง พลเอก ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2559 ขอให้ตรวจสอบการทุจริตของนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย กับพวกในฐานความผิดเอื้อประโยชน์ เลือกปฏิบัติ เจตนาคัดออกในสาระสำคัญของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่ นร (กวพ) 1305/ว2457 ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่เป็นกิจการร่วมค้าในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ทั้งที่ประกวดราคาไปแล้ว 2 เส้นทาง และที่กำลังจะเปิดประกวดราคา
และต่อมาวันที่ 28 ก.ค. 2559 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือลงนามโดยนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ถึงผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. โดยขอให้ทบทวนการดำเนินการที่มีการกำหนดเงื่อนไขทีโออาร์โดยไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เข้าข่าย พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และยังเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ กรณีที่ไม่ได้ปฏิบัติตามแนวทางในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่เป็นกิจการร่วมค้า หากละเลยหรือเพิกเฉยไม่พิจารณา สตง.จำเป็นต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ คตร.ได้รวบรวมปัญหา ข้อท้วงติงต่างๆ แล้ว โดยพบว่าการดำเนินโครงการถไฟทางคู่มีลักษณะไม่เป็นไปตามระเบียบของ กวพ.ตั้งแต่ 2 เส้นทางแรกที่มีการลงนามสัญญาผู้รับเหมาไปแล้ว และมีความพยายามต่อเนื่องกับ 5 เส้นทาง ซึ่งจะสร้างความเสียหายด้านงบประมาณ อีกทั้งการไม่เร่งรีบดำเนินโครงการส่งผลต่อนโยบายของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ที่ต้องการเร่งก่อสร้างรถไฟทางคู่ให้เกิดการเชื่อมโยงต่อเนื่องเกิดประโยชน์ต่อการเดินทางขนส่งสินค้าอย่างแท้จริง ซึ่งหากทีโออาร์ยังกีดกันไม่ให้แข่งขันที่เป็นธรรมจะเปิดประมูลไม่ได้ ส่งผลให้โครงการล่าช้า นอกจากนี้ ยังมีการจัดซื้อหัวรถจักร 50 คันที่ยกเลิกประมูลไปถึง 4 ครั้ง ซึ่งความล่าช้าที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะส่งผลให้ปี 2560 รถไฟจะประสบปัญหาวิกฤตขาดแคลนหัวรถจักร
อย่างไรก็ตาม คาดว่าได้มีการเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาแก้ปัญหาด่วน ทั้งเรื่องทีโออาร์รถไฟทางคู่ เพราะหากเร่งรัดประมูลในเดือน ก.ย.นี้ได้ อย่างเร็วที่สุดจะได้ตัวผู้รับจ้างประมาณปลายเดือน ม.ค. 2560 ซึ่งเกินกรอบเวลาที่รัฐบาลตั้งไว้ พร้อมทั้งมีข้อเสนอให้บอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดใหม่รับทราบแนวทางปฏิบัติตามนโยบายนายกรัฐมนตรีด้วย
“ถือเป็นการส่งสัญญาณชัดเจน และอาจจะมีมาตรการพิเศษ หรืออาศัยกระบวนการตามระเบียบการสรรหาที่ส่งผลต่อเก้าอี้ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนมาก” เพราะก่อนหน้านี้เคยจะตกเก้าอี้มาแล้ว แต่เพราะมีบิ๊กใหญ่ในรัฐบาลหนุนอยู่จึงทำให้ผ่านการประเมินการทำงานฉลุย