ผู้จัดการรายวัน360 - ปูดล็อคสเปกทีโออาร์ “รถไฟทางคู่” เขย่าเก้าอี้ "วุฒิชาติ” ผู้ว่าฯรฟท. เหตุทำนโยบายรัฐบาล-คสช.ติดหล่ม จนโรดแมปประมูล 5 เส้นทางหลุดเป้าหมายปี 2559 "สตง.-คตร." สั่งทบทวนแก้ล็อกสเปกปิดกั้นแข่งขันผิดระเบียบ กวพ. เหตุทำรัฐสูญงบเกินจริง 20-30% ชี้พฤติกรรมเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ หาช่องมาตรการพิเศษเล่นงานผู้ว่าฯรฟท.
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี (2560-2564) โดยอยู่ระหว่างเร่งรัดโครงการตามแผนปฏิบัติการระยะที่ 2 (Action Plan) และเตรียมทำแผนระยะที่ 3 ซึ่งจะมีการลงทุนระบบรางของประเทศครั้งใหญ่ที่สุด โดยมีแผนฟื้นฟูการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปฎิรูปองค์กรให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาบริการ เพื่อเพิ่มรายได้จากการโดยสารและสินค้า การพัฒนาที่ดิน เพื่อเปลี่ยนการขนส่งจากถนนมาสู่ระบบราง โดยแผนงานสำคัญคือ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทาง โดยนโยบายกำหนดให้ลงนามสัญญาก่อสร้างภายในปี 2559 ซึ่งขณะนี้มีการลงนามสัญญาไปแล้ว 2 เส้นทาง คือ ทางคู่ช่วงคลองสิบเก้า-แก่งคอยระยะทาง 106 กม.วงเงินประมาณ 10,232 ล้านบาท และช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม.วงเงินประมาณ 23,802 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 5 เส้นทางอยู่ในกระบวนการอนุมัติ
** คตร.หมายหัวผู้ว่าฯรฟท.
แหล่งข่าว กล่าวว่า ทางคู่ช่วง ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 17,249.90 ล้านบาทนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 26 เม.ย.59 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดประกวดราคาได้ ซึ่งโครงการถูกร้องเรียนเรื่องการล็อกสเปกอย่างหนัก โดยมีหนังสือจาก สหภาพแรงงาน รฟท. ส่งถึง พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เมื่อวันที่ 22 ก.ค.59 ขอให้ตรวจสอบการทำงานของ นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ รฟท.กับพวก ฐานเอื้อประโยชน์ เลือกปฎิบัติ เจตนาคัดออกในสาระสำคัญของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่ นร (กวพ) 1305/ว2457 ว่าด้วยแนวทางปฎิบัติในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่เป็นกิจการร่วมค้า ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ทั้งที่ประกวดราคาไปแล้ว 2 เส้นทางและที่กำลังจะเปิดประกวดราคา ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ก.ค.59 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือลงนามโดย นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ถึงผู้ว่าฯรฟท. ขอให้ทบทวนการดำเนินการ ที่มีการกำหนดเงื่อนไข ทีโออาร์ โดยไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เข้าข่ายขัดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และยังเป็นการปฎิบัติหรือละเว้นการ ปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ กรณีที่ไม่ได้ปฎิบัติตามแนวทางในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่เป็นกิจการร่วมค้า หากละเลยหรือเพิกเฉยไม่พิจารณา สตง.จำเป็นต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
** ลักไก่ประกาศทีโออาร์-ทำประชาพิจารณ์
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ คตร.ได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าฯรฟท.ดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ช่วง ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ โปร่งใสและเป็นธรรมตามขั้นตอนการประกวดราคาด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเมื่อวันที่ 25 พ.ค.59 มีการนำ ทีโออาร์ เสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบเนื่องจากยังไม่ถูกต้องตามระเบียบ กวพ.ในเรื่องคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่เป็นกิจการร่วมค้า และให้แก้ไขให้ถูกต้อง แต่กลับมีการออกประกาศ ทีโออาร์ เพื่อทำประชาพิจารณ์ระหว่างวันที่ 1-5 ก.ค.59 โดยยังไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบ กวพ. โดยมีการกีดกันไม่ให้กิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่เข้าร่วมในการประกวดราคา ทำให้มีเฉพาะบริษัทรับจ้างรายใหญ่ ภายในประเทศเพียงไม่กี่รายที่เข้าร่วมประกวดราคาได้ ซึ่งจะส่งผลให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณสูงเกินจริง
แหล่งข่าว กล่าวว่า ความพยายามหาทางล็อคสเปกเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับเหมารายใหญ่ ไม่กี่บริษัทในประเทศ ขณะที่หากเปิดกว้างทีโออาร์ตามกฎหมายจะทำให้มีบริษัทต่างชาติที่เป็นผู้ผลิ ตรางรถไฟเองให้สามารถเข้าแข่งขันประมูลได้ คาดว่าน่าจะการประมูลจะต่ำกว่าราคากลางที่ตั้งไว้กว่า 20-30% ซึ่งส่วนต่างผลประโยชน์มหาศาล ที่จะเกิดขึ้นหากใช้ทีโออาร์ที่ปิดกั้น ประมูลรถไฟทางคู่อีก 5 เส้นทาง วงเงินงบประมาณรวมกว่า1.2แสนล้านบาท คิดเป็นเม็ดงบประมาณที่จะสูญเสียเกินจริงกว่า 36,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ตามแผนงาน ในปี 2560 จะมีการประมูลรถไฟทางคู่อีก 7-8 เส้นทาง วงเงินไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท รวมถึงโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (Missing Link) สีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หั วหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม.วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท ที่ ครม.ได้อนุมัติไปเมื่อวันที่ 26 ก.ค.คาดว่า จะใช้ทีโออาร์ของรถไฟทางคู่เป็นต้นแบบในการประมูลก่อสร้าง ประเมินมูลค่าที่รัฐต้องสูญเสียงบประมาณเป็นเงินมหาศาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีพิจารณาทีโออาร์ โครงการที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท ก่อน ซึ่งยังไม่อนุมัติทีโออาร์ รถไฟทางคู่ ออกมา
** ผู้ว่าฯรฟท.ส่อเก้าอี้หลุด
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ขณะนี้ คตร.ได้รวบรวมปัญหา ข้อท้วงติงต่างๆ แล้ว โดยพบว่า การดำเนินโครงการถไฟทางคู่ มีลักษณะไม่เป็นไปตามระเบียบของกวพ.ตั้งแต่ 2 เส้นทางแรก ที่มีการลงนามสัญญาผู้รับเหมาไปแล้ว และมีความพยายามต่อเนื่องกับ 5 เส้นทาง ซึ่งจะสร้างความเสียหายด้นงบประมาณ อีกทั้งการไม่เร่งรีบดำเนินโครงการ ส่งผลให้ต่อนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเร่งก่อสร้งรถไฟทางคู่ ให้เกิดการเชื่อมโยงต่อเนื่องเกิดประโยชน์ต่อการเดินทางขนส่งสินค้าอย่างแท้จริง ซึ่งหากทีโออาร์ยังกีดกัน ไม่ให้แข่งขันที่เป็นธรรม จะเปิดประมูลไม่ได้ ส่งผลให้โครงการล่าช้า นอกจากนี้ ยังมีการจัดซื้อหัวรถจักร 50 คัน ที่ยกเลิกประมูลไปถึง 4 ครั้ง ซึ่งความล่าช้าที่เกิดขึ้นทั้งหมด จะส่งผลให้ปี 2560 รถไฟจะประสบปัญหาวิกฤติ ขาดแคลนหัวรถจักร อย่างไรก็ตาม คาดว่าได้ มีการเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาแก้ปัญหาด่วน ทั้งเรื่องทีโออาร์รถไฟทางคู่ เพราะหากเร่งรัดประมูลในเดือน ก.ย.นี้ ได้ อย่างเร็วที่สุดจะได้ตัวผู้รับจ้างประมาณปลายเดือนม.ค.60 ซึ่งเกินกรอบเวลาที่รัฐบาลตั้งไว้ พร้อมทั้งมีข้อเสนอให้บอร์ด รฟท.ชุดใหม่ รับทราบแนวทางปฎิบัติ ตามนโยบายนายกรัฐมนตรีด้วย
"ถือเป็นการส่งสัญญาณชัดเจน ว่า และอาจจะมีมาตรการพิเศษ หรืออาศัยกระบวนการตามระเบียบการสรรหา ที่ส่งผลต่อเก้าอี้ผู้ว่าฯรฟท. เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนมาก เพราะก่อนหน้านี้ เคยออกอาการเก้าอี้หลุดมาแล้ว แต่มีบิ๊กใหญ่ในรัฐบาลหนุนอยู่ จึงทำให้การประเมินผลงานผ่านฉลุย" แหล่งข่าว ระบุ.