xs
xsm
sm
md
lg

สมัชชาน้ำยื่นหนังสือนายกฯ จี้ กทม.ทบทวนแผนพัฒนาริมเจ้าพระยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กลุ่มสมัชชาน้ำ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอหยุดโครงการสำรวจออกแบบและจัดทำแผนแม่บท เพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จี้กรุงเทพฯ เบรกงานหวั่นเสียงบฯ, ทรัพยากร แนะจัดให้มีส่วนร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ แนวทางเลือก นำไปสู่ข้อกำหนดการศึกษาใหม่ ต้องให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย เคารพสิทธิชุมชน ระบุคนริมน้ำยังไม่เห็นแบบเลย ชี้หากสร้างทางให้รถยนต์วิ่งได้จะทำลายแม่น้ำโดยตรง

วันนี้ (30 ส.ค.) ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.) เมื่อเวลา 09.00 น. นางภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระ และนายยศพล บุญสม ผู้ประสานงานกลุ่มสมัชชาน้ำ ตัวแทนจากเครือข่ายภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องขอให้หยุดโครงการสำรวจออกแบบและจัดทำแผนแม่บท เพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากโครงการดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยได้มีการหารือร่วมกับ พ.อ.คฑาวุฒิ ขจรกิตติยุทธ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ นายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะยื่นหนังสือดังกล่าวแก่ นายพันศักดิ์ เจริญ ผอ.ส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในเวลา 10.00 น.

โดยทางกลุ่มฯ มีข้อเสนอ คือ 1. กรุงเทพมหานครหยุดการดำเนินโครงการสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝังแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ก่อน เพื่อมิให้มีการดำเนินการที่จะส่งผลกระทบต่อความเสียหายทั้งด้านงบประมาณ และการดำเนินการสร้างที่จะมีผลกระทบเสียหายอันมิอาจเรียกคืนได้ 2. ให้กรุงเทพมหานครจัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ แนวทางเลือกการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อนำไปสู่การทบทวนข้อกำหนดโครงการ ปรับปรุงเป้าหมาย วัตถุประสงค์ ขอบเขต การศึกษาในข้อกำหนดการศึกษาใหม่ซึ่งจะเป็นข้อกำหนดการศึกษาที่พัฒนามาด้วยการมีส่วนร่วม

3. ในกระบวนการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ขอให้ดำเนินการด้วยการมีส่วนร่วมบูรณาการรแผนและนโยบายทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา และประเมินเพื่อกำหนดทางเลือกการพัฒนาในแผนแม่บทก่อนจะมีการจัดทำข้อกำหนดการสำรวจ ออกแบบรายละเอียดเพื่อการก่อสร้างและจัดทำแผนงานโครงการ 4. การดำเนินการดังกล่าวต้องจัดกระบวนการมีส่วนร่วมให้ทั่วถึง โดยมีการให้ข้อมูลแก่ประชาชนชุมชน และผู้มีส่วนเสียอย่างเปิดเผย เพียงพอต่อการทำความเข้าใจและทั่วถึง และจัดมีการเผยแพร่ข้อมูลการศึกษาที่เข้าถึงได้ทั้งทางเอกสาร และสื่อสารสนเทศ เพื่อให้แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแผนซึ่งมาจากการมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ เป็นการทำหน้าที่ซึ่งเคารพต่อสิทธิชุมชน สิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนและเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและการพัฒนาที่ยั่งยืน

นางภารณีกล่าวว่า โครงการนี้หากเดินหน้าต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล จึงอยากให้ทางหัวหน้า คสช.ยึดนโยบายประชารัฐโดยให้รัฐคิดหาทางออกร่วมกับประชาชน รวมทั้งกำหนดทีโออาร์ใหม่ เพราะในทีโออาร์ฉบับนี้มีการแฝงเร้นการทำงานหลายเรื่อง อย่างเช่น การแฝงเรื่องการจัดระเบียบพื้นที่และไล่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณชุมชนริมแม่น้ำ ให้อยู่ภายใต้เรื่องการออกแบบ หากมีการระบุให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจนแล้ว ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเรื่องการถูกไล่ที่ก็คงเตรียมข้อมูลที่จะนำมาให้ตรวจสอบอีกชุดหนึ่ง นอกจากนี้ อำนาจหน้าที่ในการจัดระเบียบชุมชนริมแม่น้ำ กทม.และหน่วยงานอย่างกรมเจ้าท่าเองมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการได้อยู่แล้ว

“นอกจากนี้ ชาวบ้านเองก็ยังไม่ทราบว่าแบบที่ สจล.นำมาให้ดูคือแบบที่จะสร้างจริงๆ ใช่หรือไม่ นอกจากนี้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในระยะทาง 57 กม.ที่จะสร้างโครงการยังไม่มีผู้ใดได้เห็นภาพรวมของโครงการดังกล่าวเลยทั้งที่จะถึงเวลาส่งต่อแบบให้ กทม.อยู่แล้ว หากยังคงไม่มีผลตอบรับก็คงต้องใช้กระบวนการยุติธรรมในการหาทางออกต่อไป“ นางภารณีกล่าว

นายยศพลกล่าวว่า นโยบายดังกล่าวมีการตั้งธงกำหนดในทีโออาร์แล้วว่าจะมีการสร้างทางขนาดใหญ่เพื่อให้รถ 4 ล้อสามารถวิ่งได้ การก่อสร้างย่อมส่งผลโดยตรงต่อการทำลายแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากท่านยืนยันว่าแม่น้ำเป็นของเราทุกคน ประชาชนเองก็ควรมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายของรัฐอย่างโปร่งใส นี่คือพันธกิจของรัฐบาลในยุคปฏิรูปที่ต้องการการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“หากเราปล่อยให้โครงการนี้ดำเนินต่อไป งบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนก็จะถูกใช้มากกว่า 14,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริเวณแม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำแม่กลองเองก็แสดงข้อห่วงใยว่าหากโครงการนี้เสร็จ ชาวบ้านเหล่านี้ย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นายยศพลกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น