นายกรัฐมนตรีเสนอแนวคิดหน่วยราชการในกองทัพที่เคยใช้ แก้ปัญหาฮั้วประมูล ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์กำหนดความต้องการ และคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานออกเป็นกฎหมายลูก หลัง สนช.ผ่าน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่
วันนี้ (30 ส.ค.) ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งการเรื่องความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ก่อนรัฐบาลนี้เข้ามา มักมีปัญหาเรื่องของการฮั้วประมูล โดยสอบถามนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ความว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดหาอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยนายกฯ มีแนวคิดให้นำแนวทางของหน่วยราชการในกองทัพที่เคยใช้ ซึ่งสามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาการฮั้วได้ โดยต้องมีคณะกรรมการพิจารณาแต่ละขั้นตอน และอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปพิจารณา เมื่อกฎหมายหลักผ่านสภาฯการออกกฎหมายลูกที่ตามมา ให้สอดรับกับแนวนโยบายที่ให้ไว้ได้หรือไม่
ทั้งนี้ ขั้นตอนควรมีคณะกรรมการที่กำหนดความต้องการในการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์อะไร เป็นคณะกรรมการเชิงยุทธศาสตร์ ที่คิดล่วงหน้า 5-20 ปี ว่าประเทศไทยควรจะจัดซื้ออย่างไร ที่ไม่ใช่ยุทโธปกรณ์อย่างเดียว แต่หมายถึงการจัดซื้อทุกชนิดในทุกกระทรวง มีคณะกรรมการกำหนดคุณสมบัติมาตรฐานอุปกรณ์และยุทโธปกรณ์ที่จะจัดหา เพราะเมื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์คิดแล้วว่า ต้องการจัดซื้อจัดหาอะไร มีความต้องการแบบไหน คณะกรรมการฯ ชุดที่ 2 ก็ควรที่จะกำหนดคุณสมบัติให้ชัดเจนว่าสิ่งที่จัดซื้อจัดหาควรมีมาตรฐาน รูปแบบ คุณสมบัติอย่างไร หลังจากนั้นก็จะไปทำทีโออาร์เพื่อจะได้ไม่เป็นที่ครหาว่าเขียนทีโออาร์เพื่อเอื้อแก่ใคร หลังจากเขียนทีโออาร์เสร็จ จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างที่จะต้องมีการประมูลแข่งขันกัน แล้วก็มีสัญญาคุณธรรม
ขณะที่นายวิษณุชี้แจงที่ประชุมว่า ถ้า พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ออกมาแล้ว ก็คงจะมีกฎหมายลูก ที่จะนำข้อสังเกตคำสั่งการนายกฯ ไปบรรจุไว้ เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างเกิดความบริสุทธิ์ เที่ยงธรรมแก่ทุกฝ่าย ลดช่องทางหรือโอกาสในการทุจริตจากภาคส่วนต่างๆ ให้มากที่สุด