xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ถก คตช.สั่งหาแนวทางเร่งคดีทุจริตเข้าสู่กระบวนการ เพิ่มศักยภาพ ศปท.สอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
“ประยุทธ์” ประชุม คตช. สั่งเร่งสร้างการรับรู้ให้คดีทุจริตเข้าสู่กระบวนการ เพิ่มศักยภาพ ศปท.ทำหน้าที่ตรวจสอบซ้ำวินัยกรม กองต่างๆ หากยังถูกร้องทุจริตซ้ำ แก้ กม.เร่งเวลาสอบเร็วขึ้น เผยผลการสอบทุจริตรอบสองเบาบางลง พร้อมขับเคลื่อนธรรมาภิบาลในภาครัฐให้เป็นรูปธรรม และป้องกันการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐ เตรียมจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ แนวคิดกรรมสนองโกง 6 และ 11 ก.ย.

วันนี้ (2 ก.ย.) เวลา 09.00 น. ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) เป็นประธานการประชุม คตช.ครั้งที่ 4/2559 โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยก่อนการประชุมนายกฯ ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกหรือชนะเลิศในการประกวดแข่งขันสื่อป้องกันการทุจริตในรูปแบบของสกู๊ป และแอนิเมชัน เข้าพบ 7 พร้อมให้โอวาทว่า ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาการทุจริตให้หมดสิ้น กำหนดกฎเกณฑ์พิจารณาจากหลักสากล และต้องเข้าใจระบบการปกครองของไทย ที่บอกว่าจะเป็นประชาธิปไตยสากลเหมือนตะวันตก ซึ่งสังคมประชาธิปไตยมันไม่เหมือนกัน ที่ทุกคนอยากให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ อย่าลืมว่ามันแตกต่างจากเขาหมด กลไกภายในสำคัญสุดคือเราต้องรู้จักตัวเองก่อน

ต่อมาเวลา 11.30 น. ที่ตึกนารีสโมสร พล.อ.ชาตอุดม ดิตถะสิริ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.)ในฐานะเลขาธิการ คตช.พร้อมด้วยนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ท.) และนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมแถลงข่าว โดย พล.อ.ชาตอุดมกล่าวว่า นายกฯ สั่งการให้เร่งสร้างการรับรู้ เนื่องจากปัจจุบันสื่อมีการแข่งขันกันสูง ไม่สามารถนำสกู๊ปไปเผยแพร่ตามสถานทีโทรทัศน์ที่ประชาชนชมกันเป็นจำนวนมาก โดยนายกฯ สั่งให้อนุกรรมการที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ

ด้านนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขาธิการ ศอตช.แถลงว่า ที่ประชุม ศตช.เห็นชอบแนวทางการเพิ่มศักยภาพศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ซึ่งเป็นศูนย์กลางประสานงานการปราบปรามการทุจริตในวงราชการ ที่เดิมการปราบปรามการทุจริตไม่สามารถไปถึงรัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชนที่อยู่ในแต่ละกระทรวงได้ จึงเสนอให้ ศปท.ที่อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ทำหน้าที่ตรวจสอบเปรียบเทียบการดำเนินการทางด้านวินัยของกรม กองต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ถูกร้องเรียนทางวินัย ทั้งจากที่ประชาชนร้องเรียนและ ศอตช.ยื่นเรื่องไป กรณีเกิดความสงสัยกรม กอง ดำเนินการตรวจสอบถูกต้องเพียงไร คล้ายกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 47/2559 ให้ ศอตช.ตั้งคณะบุคคลตรวจสอบเปรียบเทียบทางวินัยของส่วนราชการต่างๆ หากผลสอบไม่ตรงกันต้องมีการปรับแก้คำสั่งและคนที่มีหน้าที่ตรวจสอบต้องชี้แจงทำไมผลสอบอออกมาอย่างนั้น

นายประยงค์กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้สรุปผลการตรวจสอบการทุจริตในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ ทุจริตเบาบางลง กลไกภาครัฐเข้มแข็งขึ้น ที่เกิดจากการสร้างกลไกใหม่ไปกระตุ้นกลไกราชการให้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในกรอบธรรมาภิบาล ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรการทางวินัยไปกระตุ้น เสริมมาตรการไอที การจัดซื้อจัดจ้างใหม่ๆ เข้าไปการร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชน อย่างเรื่องการค้ามนุษย์ คลองด่าน เป็นต้น

ส่วนงานหลังจากนี้จะขับเคลื่อนงาน 2 ลักษณะ คือ ขับเคลื่อนธรรมาภิบาลในภาครัฐให้เป็นรูปธรรม โดยกฎหมายเจ้าหน้าที่ต้องปฎิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ถ้าผิดวินัยเป็นหน้าที่หัวหน้าส่วนราชการต้องดำเนินการทางวินัย ถ้าหัวหน้าส่วนราชการไม่ดำเนินการก็ผิดวินัย โดยใช้หนังสือร้องเรียนประชาชน สื่อ และส่วนราชการ กรณีพบหน่วยงานใดสร้างความเดือดร้อนกับประชาชน หรือส่อทุจริต โดยส่งเรื่องไปที่ ศปท.กระทรวง แล้วส่งต่อไปเจ้าของเรื่องต้นสังกัดว่ามีการร้องเรียนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของท่าน ขอให้ดำเนินการแก้ไข และต้องแก้ตามที่กฎหมายกำหนด และกฎหมายใหม่ของ ป.ป.ท.เมื่อ ป.ป.ท.ส่งเรื่องไป ส่วนราชการต้องตอบกลับมาภายใน 30 วันว่าจะดำเนินการกับปัญหาอย่างไร ใน 3 แนวทาง คือ ถ้าไม่ปรากฏอย่างที่มีการร้องเรียนให้ยุติเรื่อง ถ้าแจ้งกลับมาว่ามีการะทำผิดจริงต้องแก้ไขให้เรียบร้อย ส่วนเจ้าหน้าที่กระทำผิด ทาง ป.ป.ท.จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ถ้าระดับสูงส่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และถ้านิ่งเฉยทาง ป.ป.ท.จะรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด โดยส่งไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กับส่งเรื่องไป ป.ป.ช.

ส่วนการขับเคลื่อนการป้องกันการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐ หลังจากนี้ ตั้งเป้า 3 ประการ คือ คนโกงรายเก่าต้องหมดไป คนโกงรายใหม่ต้องไม่เกิด และไม่เปิดให้โกงได้ง่าย โดยสิ่งที่ได้ดำเนินการแล้ว อย่างการตั้งศาลคดีทุจริต การแก้กฎหมาย ป.ป.ท.ที่ต้องตรวจสอบให้เสร็จภายใน 90 วัน หรือการไตร่สวนให้อำนาจเลขาธิการ ป.ป.ท.ตรวจสอบในคดีเล็กๆ น้อยๆ และการประชุม ศตช.ก่อนนี้ นายกฯ สั่งการให้ไปหาแนวทางทำให้คดีทุจริตที่เกิดขึ้นเข้าสู่กระบวนการเร็วได้อย่างไร เพื่อเอาคนผิดลงโทษให้หมด การจัดทำงบประมาณต้องสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงการเฝ้าระวังโดยการสร้างเครือข่าย โดยเร็วๆ นี้ทาง ศอตช.ร่วมมือกับสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย เสริมสร้างธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจ 53 แห่ง รวมถึง ป.ป.ท.ร่วมมือ กทม.เฝ้าระวังเสริมสร้างธรรมาภิบาลใน กทม. โดยที่ประชุม ศตช.เห็นชอบดำเนินการตามกรอบทั้งหมดนี้

ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า จะมีการจัดงานวันต่อต้านการคอร์รัปชันแห่งชาติ ภายใต้แนวคิดการจัดงานในปีนี้คือ “กรรมสนองโกง” เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติใครโกงชาติ ทำร้ายบ้านเมืองต้องถูกลงโทษในวันนี้ไม่ใช่ชาติหน้า โดยวันที่ 6 และวันที่ 11 ก.ย.จะมีการจัดงานทั่วประเทศ วันที่ 6 ก.ย.จะมีการประชุมวิชาการ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่ 09.00-12.00 น. และวันที่ 11 ก.ย.จะเป็นงานใหญ่ที่จะจัดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 18.00-20.30 น. โดยต่างจังหวัดจัดขึ้นที่ศาลากลางจังหวัด ที่ กทม.จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “มาตรการการจัดการปัญหาคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม” จากนั้นจะมีกิจกรรมชวนคนไทยทั้งประเทศร่วมจุดไฟไล่โกงพร้อมกันครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น