ครม.ทำคลอดรถไฟทางคู่ “มาบกะเบา-จิระ” วงเงิน 2.6 หมื่นล้าน เป็นMissing Link เชื่อมรอยต่อภาคอีสาน-ท่าเรือแหลมฉบัง ด้าน “ออมสิน” เผย “สมคิด” สั่ง ร.ฟ.ท.ชี้แจงทีโออาร์อีกรอบ หลังปรับให้เปิดกว้างมากขึ้น คาดจะเห็นชอบใน ต.ค.นี้ จะออกประมูลช่วง ประจวบฯ-ชุมพร 1.72 หมื่นล้านทันที ส่วนอีก 3 เส้นทางที่เหลือคาดชง ครม.ได้ใน ต.ค.นี้
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 27 ก.ย.ได้มีมติเห็นชอบโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงิน 26,000 ล้านบาท ซึ่งเป็น Missing Link เชื่อมระหว่างรถไฟทางคู่ ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. และช่วงคลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กม. ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เป็นการเติมเต็มเส้นทางเชื่อมภาคอีสานสู่ท่าเรือแหลมฉบัง
ทั้งนี้ ตามแผนงานในปี 2559 จะมีการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่จำนวน 7 เส้นทาง ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 เส้นทาง ครม.อนุมัติแล้ว 2 เส้นทาง คือ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. มูลค่า 17,249.90 ล้านบาท และช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ โดยขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างปรับปรุงร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ให้เปิดกว้างมากขึ้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปและเปิดประมูลได้ในเดือน ต.ค.นี้ และจะใช้ทีโออาร์ดังกล่าวเป็นต้นแบบในการประมูลของทุกเส้นทางที่เหลือ
โดยจากการหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ทราบว่าจะให้ทางการรถไฟฯ เข้าไปชี้แจงอีกครั้ง คาดว่าจะได้ข้อยุติ โดยที่ผ่านมาได้หารือถึงกรณีการกำหนดเงื่อนทีโออาร์ให้เปิดกว้างนั้นจะเป็นแบบไหนแค่ไหน เนื่องจากหากเปิดกว้างโดยไม่มีข้อจำกัดอาจจะทำให้ได้ผู้รับงานที่ไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอ และอาจกระทบต่อการก่อสร้างได้ ซึ่งทีโออาร์ถูกท้วงติงว่ากำหนดเงื่อนไขแคบไป โดยให้เป็นผู้รับเหมาไทยที่มีประสบการณ์ในการก่อสร้างรางในประเทศ ทำให้มีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยประมาณ 6-7 รายเท่านั้น ขณะที่ทีโออาร์ที่ปรับใหม่ให้บริษัทต่างชาติสามารถเข้าร่วมได้ ในรูปแบบคอนซอร์เตียมกับบริษัทไทย โดยเงื่อนไขสำคัญคือจะต้องเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ในการก่อสร้างราง ทำให้มีบริษัทผู้รับเหมาเข้าร่วมประมูลได้เพิ่มขึ้นเป็น 15-20 ราย ซึ่งน่าจะมากเพียงพอ
และภายในเดือน ต.ค.นี้คาดว่าจะเสนอ ครม.ขออนุมัติอีก 3 เส้นทางที่เหลือ คือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงิน 24,840.54 ล้านบาท ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงิน 20,036.53 ล้านบาท และช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. วงเงิน 10,301.95 ล้านบาท