บอร์ด ทอท.อนุมัติพัฒนาสนามบินหาดใหญ่ระยะ 20 ปี (59-78) ลงทุนรวม 1.51 หมื่นล้าน เพิ่มขีดรับผู้โดยสารเฟสแรกจาก 2.5 ล้านคนเป็น 6 ล้านคน/ปี และขยายเป็น 10 ล้านคน/ปี โดยจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ขยายหลุมจอดเพิ่มเป็น 25 หลุมจอด เร่งศึกษา EIA คาดเริ่มตอกเข็มปี 63 ขณะที่เตรียมย้ายสำนักงานออกนอกอาคารผู้โดยสาร เร่งแก้แออัดเฉพาะหน้าก่อน
นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด ทอท.เมื่อวันที่ 21 ก.ย. มีมติเห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานหาดใหญ่ วงเงินลงทุนรวมประมาณ 15,100 ล้านบาท แบ่งพัฒนาเป็น 2 ระยะ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2578 โดยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบันที่ 2.5 ล้านคนต่อปี เป็น 10 ล้านคนต่อปี โดยการพัฒนาระยะที่ 1 (ปี 2559-2568) วงเงินลงทุนประมาณ 9,500 ล้านบาทเศษ จะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 2.5 ล้านคนต่อปีเป็น 8.5 ล้านคนต่อปี สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้ไม่น้อยกว่าปี 2573
ประกอบด้วย กลุ่มงานเขตการบิน มีการก่อสร้าง Partial Parallel Taxiway ด้านปลายทางวิ่งทิศตะวันตก ให้มีระยะห่างตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) สำหรับอากาศยาน Code E ก่อสร้าง Rapid Exit Taxiway (ทางขับสายเฉียง) ด้านปลายทางวิ่งทิศตะวันตก เพื่อช่วยให้อากาศยานออกจากทางวิ่งเร็วขึ้น และขยายลานจอดอากาศยานด้านทิศตะวันตก ซึ่งหลุมจอดเพิ่มขึ้นเป็น 18 หลุมจอด, ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ให้สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ 6 ล้านคนต่อปี และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเดิม
ปรับปรุงเส้นทางเข้า-ออกท่าอากาศยาน โดยย้ายทางเข้า-ออกท่าอากาศยาน พร้อมทั้งก่อสร้างศูนย์รักษาความปลอดภัย ก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์รองรับได้ไม่น้อยกว่า 1,500 คัน ปรับปรุงระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร ปรับปรุงโรงบำบัดน้ำเสีย รวมถึงการปรับปรุงอาคารอเนกประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์
การพัฒนาระยะที่ 2 (ปี 2569-2573) วงเงินลงทุนประมาณ 5,600 ล้านบาทเศษ เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 8.5 ล้านคนต่อปีเป็น 10 ล้านคนต่อปี รองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้ไม่น้อยกว่าปี 2578 โดยก่อสร้าง Partial Parallel Taxiway ด้านปลายทางวิ่งทิศตะวันออก ก่อสร้างทางขับสายเฉียง ด้านปลายทางวิ่งทิศตะวันออก ขยายลานจอดอากาศยานด้านทิศตะวันออกจาก 18 หลุมจอดเป็น 25 หลุมจอด, ก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารที่ก่อสร้างไว้ในระยะที่ 1 ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 10 ล้านคนต่อปี, ขยายอาคารจอดรถยนต์เพิ่มอีก 2,000 คัน
โดยขณะนี้ ทอท.อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 จากนั้นจึงเริ่มงานก่อสร้างตามแผนพัฒนา ระยะที่ 1 ในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่แผนพัฒนายังไม่ได้ดำเนินการ ทอท.ได้เตรียมแนวทางแก้ปัญหาความแออัดภายในอาคารผู้โดยสารไว้ โดยในปี 2560 จะย้ายสำนักงานปัจจุบันซึ่งอยู่ภายในอาคารผู้โดยสารไปยังอาคารที่ก่อสร้างใหม่ ซึ่งจะก่อสร้างบริเวณด้านทิศเหนือของอาคารผู้โดยสาร และรวมทั้งจะปรับปรุงเพิ่มพื้นที่ห้องโถงผู้โดยสารขาเข้าและขาออก
สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานหาดใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ท่าอากาศยานหาดใหญ่เป็นประตูการขนส่งของประเทศและเป็นเครื่องมือหลักในการเชื่อมโยงชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศให้มีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากลและสามารถรองรับความต้องการของประชาชนผู้เดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศมีคุณภาพได้มาตรฐานระดับสากล
โดยได้ศึกษาขีดความสามารถสิ่งอำนวยความสะดวกปัจจุบัน ได้แก่ ระบบทางวิ่งทางขับ ซึ่งปัจจุบันมีทางวิ่ง 1 เส้น ความยาว 3,050 เมตร กว้าง 45 เมตร มีขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินได้ 18 เที่ยวบินต่อชั่วโมง (แต่ในการบริหารจัดการการจราจรทางอากาศ ปัจจุบันประกาศที่ 12 เที่ยวบินต่อชั่วโมง) มีหลุมจอดอากาศยานทั้งสิ้น 7 หลุมจอด สำหรับอาคารผู้โดยสารเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กมีความสูง 2 ชั้น รองรับผู้โดยสารได้ 2.5 ล้านคนต่อปี
ซึ่งจากปริมาณการจราจรทางอากาศตามปัจจัยที่มีผลกระทบต่อปริมาณการจราจรทั้ง ภาวะเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบในธุรกิจการบิน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด และปัจจัยการเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2548-2558) เป็นเกณฑ์
คาดการณ์ว่าในปี 2563 จะมีเที่ยวบินประมาณ 34,406 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 5.1 ล้านคน และมีปริมาณสินค้า 13,331 ตัน ในปี 2568 มีเที่ยวบินประมาณ 44,735 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 6.6 ล้านคน และมีปริมาณสินค้า 14,886 ตัน ในปี 2573 มีเที่ยวบินประมาณ 56,444 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 8.4 ล้านคน และมีปริมาณสินค้า 16,504 ตัน และในปี 2578 จะมีเที่ยวบิน 66,636 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 9.9 ล้านคน และมีปริมาณสินค้า 18,237 ตัน
อย่างไรก็ตาม ทอท.มีแผนแม่บทพัฒนาสนามบิน 6 แห่ง วงเงินประมาณ 1.95 แสนล้านบาท โดย บอร์ดอนุมัติแผนแม่บทแล้ว 5 แห่ง คือ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, แม่ฟ้าหลวง เชียงราย และหาดใหญ่ วงเงินประมาณ 1.84 แสนล้านบาท