ทอท.เตรียมเซ็น 3 สัญญาแรก วงเงินกว่า 1.49 หมื่นล้านพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 จากทั้งหมด 7 งาน เริ่มลุยตอกเข็มอาคารเทียบเครื่องบิน ฟุ้งผลประมูลช่วยประหยัดงบกว่า 9 พันล้าน ขณะที่บอร์ด ทอท.อนุมัติแผนพัฒนาสนามบินเชียงราย วงเงิน 6.2 พันล้าน แบ่ง 3 ระยะ (59-73) เพิ่มขีดรองรับผู้โดยสารได้ 3.7 ล้านคนต่อปี ไปถึงปี 78
นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด ทอท. เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ได้อนุมัติให้ ทอท.จ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา SCS Consortium เป็นผู้รับจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554-2560) วงเงิน 822,420,000 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เป็นเงิน 57,569,400 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 879,989,400 บาท ระยะเวลาดำเนินงานตามสัญญาจ้างรวม 39 เดือน นับตั้งแต่วันที่กำหนดในหนังสือแจ้งบอกกล่าวให้เริ่มงาน
ทั้งนี้ ทอท.เปิดประมูลคัดเลือกที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) โดยวิธีประมูลตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุของ ทอท. ซึ่งมีผู้สนใจยื่นซองเสนอราคาจำนวน 4 ราย คือ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา SCS Consortium กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาอินเด็กซ์ฯ กลุ่มบริษัท SAEP Consortium และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาปัญญา คอนซัลแตนท์ ซึ่งปรากฏว่ากลุ่มบริษัทที่ปรึกษา SCS Consortium ชนะการประมูล
โดยก่อนหน้านี้ได้เปิดประมูลงานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น B2 ชั้น 1 และ ชั้น G) ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานโครงสร้างและงานระบบหลัก) (CC1/1) โดยมีบริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 12,050 ล้านบาท และงานจ้างก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค (CC3) มีกิจการค้าร่วม เอส จี แอนด์ อินเตอร์ลิ้งค์ เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 1,980 ล้านบาท โดยผลการประมูลทั้ง 3 สัญญาต่ำกว่างบประมาณรวมเป็นเงิน 9,046 ล้านบาท และต่ำกว่าราคากลางเป็นเงิน 1,655 ล้านบาท ซึ่งจะมีการลงนามในสัญญาจ้างทั้ง 3 สัญญาในวันที่ 25 ส.ค.นี้
***อนุมัติแผนพัฒนาสนามบินเชียงราย 3 ระยะ วงเงิน 6.2 พันล้าน
นอกจากนี้ บอร์ด ทอท.ยังเห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย วงเงินลงทุน 6,200 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ แผนพัฒนาระยะที่ 1 (ปี 2559-2564) วงเงินลงทุนประมาณ 3,700 ล้านบาท (ไม่รวมสำรองราคาเปลี่ยนแปลง และไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) มีเป้าหมายรองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้ถึงปี 2568 ระบบทางวิ่งและทางขับ รองรับเที่ยวบินได้ 16 เที่ยวบินต่อชั่วโมง หลุมจอดอากาศยาน 10 หลุมจอด รองรับผู้โดยสารได้ 3 ล้านคนต่อปี และมีที่จอดรถยนต์ 1,200 คัน
ประกอบด้วย กลุ่มงานเขตการบิน เช่น การก่อสร้างขยายลานจอดอากาศยานด้านทิศใต้พร้อมการซ่อมปรับปรุงลานจอดอากาศยานเดิม การก่อสร้างหลุมจอดอากาศยานด้านทิศเหนือพร้อมทางขับทางเชื่อมต่อทางวิ่งให้สามารถรองรับเฮลิคอปเตอร์ได้รวม 12 ลำ เป็นต้น
กลุ่มงานอาคารผู้โดยสาร การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเดิม พร้อมทั้งก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลังเดิมด้านทิศเหนือ และชานชาลารับส่งผู้โดยสารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบสัญจรภายในอาคารผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน พร้อมหลุมจอดประชิดอาคารรวม 5 หลุมจอด
กลุ่มงานระบบสนับสนุนท่าอากาศยาน เช่น การปรับปรุงระบบถนนภายในท่าอากาศยาน จากเดิม 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจรเพื่อให้เกิดความคล่องตัว การก่อสร้างขยายอาคารคลังสินค้า เป็นต้น
แผนพัฒนาระยะที่ 2 (ปี 2564-2568) วงเงินลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท (ไม่รวมสำรองราคาเปลี่ยนแปลง และไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) มีเป้าหมายเพื่อให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้ถึงปี 2573 รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 3.3 ล้านคนต่อปี ระบบทางวิ่งและทางขับรองรับเที่ยวบินได้ 16 เที่ยวบินต่อชั่วโมง หลุมจอดอากาศยาน 12 หลุมจอด ประกอบด้วย กลุ่มงานเขตการบิน เป็นก่อสร้างหลุมจอดอากาศยานด้านทิศใต้ กลุ่มงานอาคารผู้โดยสาร การก่อสร้างขยายอาคารผู้โดยสารบริเวณด้านทิศใต้ พร้อมหลุมจอดประชิดอาคาร 6 หลุมจอด และกลุ่มงานสนับสนุนท่าอากาศยาน งานก่อสร้างขยายโรงซ่อมบำรุงอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น (GSE) บริเวณด้านทิศใต้
แผนพัฒนาระยะที่ 3 (ปี 2569-2573) วงเงินลงทุนประมาณ 1,900 ล้านบาท (ไม่รวมสำรองราคาเปลี่ยนแปลง และไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) มีเป้าหมายเพื่อให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้ถึงปี 2578 รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 3.7 ล้านคนต่อปี ระบบทางวิ่งและทางขับรองรับเที่ยวบินได้ 30 เที่ยวบินต่อชั่วโมง หลุมจอดอากาศยาน 13 หลุมจอด ประกอบด้วย กลุ่มงานเขตการบิน มีงานก่อสร้างหลุมจอดอากาศยานด้านทิศใต้ และงานก่อสร้างทางขับขนานบางส่วน (partial parallel taxiway) กลุ่มงานอาคารผู้โดยสารเป็นงานปรับปรุงติดตั้งเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในอาคารผู้โดยสาร
ปัจจุบันท่าอากาศยานเชียงรายมีทางวิ่ง 1 เส้น ความยาว 3,000 เมตร และกว้าง 45 เมตร มีขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินได้ 16 เที่ยวบินต่อชั่วโมง (แต่ในการบริหารจัดการการจราจรทางอากาศ ปัจจุบันประกาศที่ 10 เที่ยวบินต่อชั่วโมง) มีลานจอดอากาศยานจอดได้ 5 ลำ สำหรับอาคารผู้โดยสารซึ่งเป็นอาคาร 2 ชั้น สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 3 ล้านคนต่อปี ประกอบกับได้คาดการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศตามปัจจัยที่มีผลกระทบต่อปริมาณการจราจรในภาพรวม ณ ปัจจุบัน ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบในธุรกิจการบิน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด และปัจจัยการเมือง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2548-2558) เป็นเกณฑ์ และได้คาดการณ์ว่าในปี 2563 จะมีเที่ยวบินประมาณ 18,700 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 2.5 ล้านคน และมีปริมาณสินค้า 7,000 ตัน ในปี พ.ศ. 2568 จะมีเที่ยวบินประมาณ 21,300 เที่ยวบินมีผู้โดยสาร 2.9 ล้านคน และมีปริมาณสินค้า 8,400 ตัน และในปี พ.ศ. 2578 จะมีเที่ยวบินประมาณ 25,500 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 3.63 ล้านคน และมีปริมาณสินค้า 10,000 ตัน
ทั้งนี้ ทอท.มีแผนลงทุนสำหรับพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง วงเงินประมาณราว 1.95 แสนล้านบาท มากกว่าสินทรัพย์รวมทั้งหมดของ ทอท.ที่มีอยู่ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2558 ที่ระดับราว 1.60 แสนล้านบาท โดยที่ผ่านมาบอร์ด ทอท.ได้ให้ความเห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานเชียงใหม่ ไปแล้ว 3 แห่ง วงเงินประมาณ 1.62 แสนล้านบาท