ปูดเหตุ “สุวรรณภูมิ เฟส 2” ไม่คืบ หลังบอร์ด ทอท.ชุด “ประสงค์ พูนธเนศ” รื้อแผนใหม่หมด เพี้ยนจากที่ ครม.อนุมัติเมื่อปี 53 ทำโครงการล่าช้าไม่ต่ำ 3 ปี เสียหายหลายแสนล้าน แฉ 3 หน่วยงานท้วงติง แต่ตีมึนมุ่งเดินตามแผนตัวเอง พร้อมแยกสัญญาจัดซื้อ “ระบบตรวจระเบิด” ออกจากงานก่อสร้างอาคาร ล็อกให้ “ผู้รับเหมา” บางราย
รายงานข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ถึงความคืบหน้าของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2554 - 2560) หลังจากที่ ทอท.ได้รับอนุมัติโครงการฯจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน ส.ค.2553 ด้วยวงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาทเศษ กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี ตั้งแต่ปี 2554-2560 แต่จนถึงปัจจุบันโครงการกลับไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจาก ทอท.ได้เริ่มว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา EPM Consortium เพื่อเป็นที่ปรึกษาบริหารจัดการโครงการฯ ด้วยวงเงิน 763 ล้านบาท ตั้งแต่เมื่อเดือน มิ.ย. 2555 กำหนดสิ้นสุดสัญญาในเดือน มี.ค. 2561 แต่หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. มาเป็นชุดที่นายประสงค์ พูนธเนศ เป็นประธาน เมื่อเดือน มิ.ย. 2557 ก็ได้มีการบอกเลิกสัญญาทางกลุ่ม EPM ก่อนสิ้นสุดสัญญาไปเมื่อเดือน มี.ค. 2558 ส่งผลให้ ทอท.ต้องสูญงบประมาณว่าจ้างกลุ่ม EPM ที่ชำระไปแล้วประมาณ 400 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่า ทอท.จะนำงานในส่วนที่ปรึกษามาดูแลเอง ทั้งที่ไม่มีความถนัด
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อปี 2555 ในสมัยที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เป็น รมว.คมนาคม ได้สั่งการให้ ทอท.เร่งรัดลดเวลาการดำเนินโครงการฯ จาก 70 เดือน เหลือ 60 เดือน ซึ่งที่ประชุมบอร์ด ทอท.ในขณะนั้นก็ได้อนุมัติแผนการใหม่ โดยใช้เวลาดำเนินการเพียง 58 เดือนเท่านั้น แต่เมื่อนายประสงค์เข้ามาเป็นประธานบอร์ด ทอท.ก็กำหนดแนวทางการใหม่ ให้แยกงานระบบขนส่งผู้โดยสาร ระบบลำเลียงสัมภาระ และระบบตรวจจับวัตถุระเบิดออกจากกลุ่มงานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และกลุ่มงานอาคารผู้โดยสาร ซึ่งแนวทางใหม่นี้ไม่ตรงตามที่ ครม.ได้เคยอนุมัติไว้เมื่อปี 2553
รายงานข่าวยังได้อ้างถึงข้อสังเกตและข้อคิดเห็นจากหน่วยงานตรวจสอบต่างๆ ที่เกี่ยวกับโครงการฯด้วยว่า คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบค่าใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้เคยมีหนังสือที่ คสช.(คตร.) / 588 ลงวันที่ 10 ก.ย. 2557 เพื่อแจ้งให้ ทอท.ทบทวนโครงการฯ รวมทั้งกำชับให้ ทอท.ดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 นอกจากนี้ยังมีความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ได้เร่งให้ ทอท.ดำเนินโครงการตามแผนเดิมโดยเร็วด้วย รวมไปถึงในส่วนของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) คมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ส่งข้อเสนอแนะให้ ทอท.เมื่อเดือน พ.ค. 2558 โดยระบุว่า ทอท.ควรพิจารณาดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปตามแผนงานที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.เมื่อเดือน ส.ค. 2553 ให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไปก่อน ส่วนแนวคิดในการดำเนินการที่นอกเหนือจากแผนดังกล่าว ควรจัดทำรายงานศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้เพื่อเสนอต่อ ครม.ตามขั้นตอนต่อไป
“แม้ 3 หน่วยงานจะมีความเห็นให้ ทอท.เร่งรัดดำเนินการตามแผนเดิมที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.เมื่อปี 2553 แต่ ทอท.ก็เพิกเฉยและมุ่งปฏิบัติไปในแนวทางอื่น ทั้งนี้เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการร้านค้าปลอดภาษี และการแบ่งซื้อแบ่งจ้างในแผนที่มีการจัดทำขึ้นมาเอง”
รายงานข่าวยังได้แจ้งถึงความเสียหายที่เกิดจากการปรับแนวทางโครงการฯ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามมติ ครม.ด้วยว่า จะส่งผลให้การก่อสร้างโครงการฯไม่แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้เดิม และล่าช้าไปไม่น้อยกว่า 3 ปี คือจากปี 2559 ไปเป็นอย่างน้อยปี 2562 เนื่องจากมีการแบ่งงานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินเป็น 2 ส่วน และใช้ผู้รับเหมา 2 รายในอาคารเดียวกัน ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการก่อสร้าง และก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของโครงสร้างอาคารที่อาจจะไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางวิศวกรรม รวมทั้งการแยกงานจัดซื้อและติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ และระบบตรวจจับวัตถุระเบิด ออกจากงานก่อสร้างอาคาร เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้รับเหมาระบบสายพานบางรายเป็นการเฉพาะ
“การปรับแบบก่อสร้างโครงการสุวรรณภูมิ เฟส 2 ของบอร์ด ทอท.ชุดของนายประสงค์ จนส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการฯ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อทั้ง ทอท. และประเทศชาติ ที่สูญเสียรายได้จากปริมาณนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท รวมทั้งยังสูญเสียโอกาสในการแข่งขันกับประเทศในภูมิภาค ทั้งนี้เพียงเพื่อต้องการไม่ให้กระทบต่อผู้ประกอบการร้านค้าปลอดภาษี และเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับเหมาะบางรายเท่านั้น” แหล่งข่าวภายใน ทอท.ระบุ
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินโครงการฯ นั้น ทอท.ได้แบ่งส่วนงานเพื่อประกวดราคาหาผู้รับจ้างเป็น 7 สัญญา โดยล่าสุดเมื่อเดือน มิ.ย. 2559 ได้เปิดประมูลไปแล้ว 2 สัญญา คือ สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 (ชั้น B2 ชั้น B1 และชั้น G) ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานโครงสร้างและงานระบบหลัก) ซึ่งทางกลุ่ม บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) เสนอราคาต่ำสุด 1.2 หมื่นล้านบาท และสัญญาจ้างก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัด สามประสิทธิ์ เสนอราคาต่ำสุด 1,983 ล้านบาท ทั้งนี้ ทอท.ได้กำหนดการจัดหาผู้รับจ้างครบทั้งหมด 7 สัญญาภายในต้นปี 2560