xs
xsm
sm
md
lg

วางกรอบเจรจาเดินรถสีน้ำเงิน รวมสัญญาเดิมและต่อขยาย ยาวถึงปี 92

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คณะกรรมการร่วมฯ วางกรอบเจรจา BEMเดินรถสีน้ำเงินตามมาตรา 44 รวมสัมปทาน สายเฉลิมรัชมงคลและส่วนต่อขยาย ยืดอายุสัญญาจบพร้อมกันปี 2592 เร่งกำหนดรายละเอียด ผลประโยชน์ตอบแทน ค่าโดยสาร ก่อนเรียกเอกชนเจรจาสัปดาห์หน้า เพื่อเร่งติดระบบช่วง 1 สถานีก่อน

แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า การหารือของคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และคณะกรรมการมาตรา 35 แห่งพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ 2556 โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ เพื่อกำหนดกรอบหลักเกณฑ์การเจรจา การเดินรถสายสีน้ำเงินเดิมและส่วนต่อขยาย แบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ตามคำสั่งมาตรา 44 จะต้องสรุปกรอบภายในวันที่ 16 ก.ย.นี้ ตามที่ ม.44 ให้เวลา 30 วัน

ทั้งนี้ กรอบเบื้องต้นจะรวมสัญญาสัมปทานของสายเฉลิมรัชมงคล และส่วนต่อขยายเป็นสัญญาเดียวกัน ในสัมปทานรูปแบบ PPPNet Cost โดยเมื่อรวม 2 ส่วนเป็นสัญญาเดียวกันจะต้องพิจารณาระยะเวลาสิ้นสุดสัญญา ระหว่างให้หมดสัญญาพร้อมกับสายเฉลิมรัชมงคล ที่สิ้นสุดปี 2572 (อายุสัญญา 25 ปี จากปี 2547- 2572) หรือหมดสัญญาพร้อมกับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งตามการศึกษาที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ PPP ให้มีอายุสัญญา 33 ปี (ก่อสร้าง 3 ปี บริหาร 30 ปี) จากการพิจารณารายละเอียดต่างๆ แล้วพบว่า กรณีให้สัญญาสิ้นสุดปี 2572 พร้อมสายเฉลิมรัชมงคล จะมีผลตอบแทนการลงทุนต่ำซึ่งทำให้ภาครัฐต้องอุดหนุนเอกชน ดังนั้นสัญญาสิ้นสุดปี 2572 จึงมีความเหมาะสมมากกว่า  

สำหรับกรณีการขยายสัญญาสายเฉลิมรัชมงคลไปสิ้นสุดที่ปี 2592 หรือต่อสัญญาอีก 20 ปีนั้นจะต้องเกณฑ์การเจรจาผลประโยชน์ตอบแทนใหม่ รวมถึงโครงสร้างอัตราค่าโดยสารซึ่งจะต้องไม่เพิ่มไปจากเดิมที่ประชาชนเคยจ่าย ขณะที่ปัจจุบันสายเฉลิมรัชมงคลมีอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ 42 บาท นอกจากนี้ ค่าแรกเข้าจะต้องมีครั้งเดียว ประเด็นเหล่านี้ต้องจัดทำโมเดลตัวเลขออกมาใหม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายศึกษาวิเคราะห์โดยมีค่าแรกเข้าที่ 14 บาท เมื่อไม่มีค่าแรกเข้าจะกระทบต่อรายได้อย่างไร รวมถึงจำนวนผู้โดยสารที่ไม่เป็นไปตามประมาณการณ์ 

“ก่อนจะเจรจากับ BEM ภาครัฐต้องกำหนดโมเดลที่ดีที่สุดให้ได้ก่อน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน และการแบ่งปันผลประโยชน์กับภาครัฐอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม โดยหลังจากสรุปกรอบแล้วจึงจะเป็นการเจรจากับ BEM โดยคาดว่าจะเริ่มเจรจากันตั้งแต่สัปดาห์หน้า มีกรอบเวลาเจรจา 30 วัน หากการเจรจาไม่ได้ข้อยุติภายในกำหนด สามารถรายงานเพื่อขอต่อเวลาได้ โดยครั้งแรกจะให้กรอบหลักเกณฑ์ทั้งหมดกับ BEM ไปพิจารณาก่อน จากนั้นค่อยเจรจาโดยจะให้ เร่งการติดตั้งระบบช่วง 1 สถานี (เตาปูน-บางซื่อ) เป็นลำดับแรกเพื่อเปิดเดินรถเร็วที่สุด”
กำลังโหลดความคิดเห็น