บอร์ด รฟม.เห็นชอบรูปแบบเจรจา BMCL เดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ตามที่ รฟม.เสนอ ชี้ประหยัดต้นทุนลดค่าก่อสร้างศูนย์ซ่อมที่บางแค และประชาชนเดินทางสะดวกไม่ต้องต่อรถเพราะผู้ให้บริการเป็นรายเดียวกับรถไฟฟ้าใต้ดิน “ยงสิทธิ์” เผยต้องเสนอเรื่องให้ กก.มาตรา 13 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 35 พิจารณา และเสนอคลัง สศช. และ ครม.เห็นชอบจึงจะเจรจาได้
นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.วันนี้ (17 ก.ค.) ว่า ที่ประชุมได้เลือกให้นายชูศักดิ์ เกวี รองปลัดกระทรวงคมนาคม และกรรมการ รฟม.เป็นประธานที่ประชุมในครั้งนี้ โดยบอร์ดได้มีมติเห็นชอบตามที่ รฟม.เสนอให้ใช้แนวทางการเจรจากับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ในการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ระยะทาง 27 กิโลเมตร เพราะจะเป็นประโยชน์มากกว่าการเปิดประกวดราคาใหม่ เนื่องจากปัจจุบัน BMCL เป็นผู้รับสัมปทานเดินรถสายเฉลิมรัชมงคล หรือสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ซึ่งเป็นเส้นทางต่อเชื่อมกับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายอยู่แล้ว ดังนั้นการมีผู้เดินรถรายเดียวกันจะทำให้ประหยัดต้นทุนในหลายด้านคือ 1. ค่าก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง (เดปโป้) ของสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่บางแคจะลดลงเบื้องต้นประมาณ 3,000 ล้านบาท เพราะจะปรับเป็นเพียงลานจอดพร้อมระบบการบำรุงรักษาเท่านั้น โดยสามารถใช้ศูนย์ซ่อมที่ห้วยขวางร่วมกับสายเฉลิมรัชมงคลได้ 2. ค่าการบริหารการเดินรถลดลง และการบริหารจะง่ายกว่ามีผู้เดินรถ 2 ราย 3. ประชาชนสะดวกในการใช้บริการ ไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยนรถเนื่องจากรถสามารถวิ่งทะลุต่อกันได้ทั้ง 2 โครงการ และ 4. เจรจาจะใช้เวลาน้อยกว่าการประมูลประมาณ 1 ปี ซึ่งจะสอดคล้องกับกำหนดการเปิดเดินรถในปี 2560
โดยหลังจากนี้จะเสนอรูปแบบการเจรจากับ BMCL ที่บอร์ดเห็นชอบแล้ว ไปที่คณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ที่มีนายรณชิต แย้มสอาด รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รฟม.เป็นประธาน เพื่อนำไปพิจารณาประกอบ หากคณะกรรมการมาตรา 13 เห็นชอบจะต้องเสนอไปที่กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนจึงจะสามารถเริ่มต้นเจรจากับ BMCL ได้ แต่หากไม่ได้รับความเห็นชอบจะต้องใช้รูปแบบการประมูลตามเดิม คือ เปิดประมูลรูปแบบ PPP-GC (รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จัดเก็บค่าโดยสาร โดยให้เอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้าและจ้างเดินรถ) เหมือนสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม. เดิม
นายยงสิทธิ์กล่าวว่า หากได้รับความเห็นชอบให้ใช้รูปแบบเจรจากับ BMCL ในส่วนของรฟม.จะต้องเจรจากับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาในสัญญาที่ 4 โครงการก่อสร้างสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย วงเงิน 13,380 ล้านบาท (ก่อสร้างทางยกระดับ ช่วงท่าพระ-หลักสอง ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร มีความสูงด้านบนของรางที่ประมาณ 22 เมตร ประกอบด้วยสถานียกระดับ 7 สถานี มีอาคารจอดรถ 2 อาคารที่บริเวณถนนเพชรเกษม 47 และถนนเพชรเกษม 80 และมีศูนย์ซ่อมบำรุงบริเวณถนนเพชรเกษม 48 ) เพื่อปรับลดเนื้องานในส่วนของเดปโป้ลง ซึ่งไม่น่ามีปัญหาเนื่องจากในสัญญาก่อสร้างนั้น รฟม.มีสิทธิ์ปรับรายละเอียดหรือตัดเนื้องานก่อสร้างได้
“เรื่องเจรจากับ BMCL ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชน เพราะก่อนหน้านี้ได้มีผลการศึกษาว่ารูปแบบการให้เอกชนรายเดียวเดินรถสายสีน้ำเงินทั้งส่วนใต้ดินและต่อขยายจะเกิดประโยชน์มากที่สุด จึงไม่ใช่ข้อมูลใหม่ แต่เพราะมีมติว่าให้ใช้วิธีประมูลแบบ PPP ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการมาตรา 13 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 35 ก็ค่อนข้างมีปัญหา เพราะจะกำหนดเงื่อนไขอย่างไรในการประมูลเพื่อไม่ให้เอกชนรายเดิมได้เปรียบ ส่วนการเจรจานั้นต้องผ่านการกลั่นกรองจากหลายหน่วยงาน และจะใช้ข้อมูลจากสายสีม่วงเป็นฐานในการเจรจาเพราะเป็นรูปแบบเดียวกัน ถ้าไม่เห็นด้วยก็ต้องประมูลหรือถ้าเห็นด้วย แต่เจรจาแล้วผลไม่น่าพอใจก็กลับมาเปิดประมูล”
สำหรับค่างานระบบและรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายมีมูลค่า 22,141 ล้านบาท หากรวมกับค่าบริหารการเดินรถตลอดอายุสัญญา 25 ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยคาดว่าปริมาณผู้โดยสารสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายในปีที่เปิดให้บริการจะมีประมาณ 200,000 คนต่อวัน ส่วนผู้โดยสารสายสีน้ำเงินเฉลิมรัชมงคลมีปริมาณผู้โดยสาร 300,000 คนต่อวัน
ส่วนการเดินรถสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) เบื้องต้นบอร์ดเห็นชอบให้ รฟม.เป็นผู้จัดซื้อระบบและรถไฟฟ้าเอง ส่วนการเดินรถจะพิจารณาต่อไป ซึ่งอาจจะให้บริษัทลูก รฟม.หรือจ้างเอกชนดำเนินการ