“ยงสิทธิ์” เผย รฟม.ไร้ประธานบอร์ดประชุมต่อไม่ได้ ทำการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-คูคต มูลคา 2.6 หมื่นล้านบาทต้องล่าช้าไปอีกมากกว่า 3 เดือนแน่นอน เหตุแก้ทีโออาร์ และขายซองประมูลรอบสองสะดุด ต้องรอบอร์ดใหม่มาพิจารณาเห็นชอบ
นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงกรณีที่นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ได้แจ้งต่อที่ประชุมวันนี้ (19 มิ.ย.) เรื่องลาออกจากประธานบอร์ดนั้น ทำให้บอร์ดที่เหลือได้มีการหารือกันว่าจะสามารถเลือกประธานคนใหม่ได้หรือไม่รวมทั้งสามารถประชุมต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งตาม พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 2543 ระบุไว้แต่กรณีที่ประธานบอร์ดครบวาระว่าให้ประธานบอร์ดปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการตั้งประธานคนใหม่ เพื่อไม่ให้งานสะดุด แต่ไม่ได้เขียนไว้ในกรณีที่ประธานบอร์ดลาออก จึงเห็นว่าไม่เหมาะสมหากบอร์ดจะประชุมต่อไป ส่วนบอร์ดที่เหลือจะลาออกหรือไม่เป็นสิทธิส่วนตัว โดยส่วนใหญ่เป็นกรรมการจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีบอร์ดในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน
ทั้งนี้ การที่ประธานบอร์ด รฟม.ลาออกได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการประกวดราคาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.4 กม. มูลค่าโครงการ 26,569 ล้านบาท ที่จะต้องล่าช้าออกไปอีกจากปัจจุบันที่ล่าช้ากว่าแผนแล้วกว่า 3 เดือน เนื่องจากได้กำหนดว่าจะเสนอขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมบอร์ดในวันที่ 19 มิถุนายน ในการปรับปรุงรายละเอียดเงื่อนไขทีโออาร์ใหม่ แต่เมื่อบอร์ดไม่มีการประชุมเรื่องจึงต้องระงับและต้องรอจนกว่าจะมีการแต่งตั้งประธานบอร์ดคนใหม่
ดังนั้น จึงเท่ากับว่าในขณะนี้ยังไม่มีการรับรองการปรับแก้ทีโออาร์ การประมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ตามที่บอร์ด รฟม.มีมติในการประชุมครั้งที่แล้ว และ รฟม.ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ที่ได้ประกาศไว้เดิมแต่อย่างใด รวมถึงกรณีที่จะเปิดขายซองประมูลในรอบสองก็จะยังไม่มีผลเช่นกัน ซึ่งในการกำหนด ทีโออาร์ของ รฟม.ที่ผ่านมา ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเฉลิมรัชมงคล สายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) สายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) เป็นการประมูลแบบนานาชาติ และยึดตามหลักขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ที่กำหนดมาตรฐานและคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลค่อนข้างสูงเพื่อวัตถุประสงค์ที่ความสำเร็จของงาน ไม่ให้เกิดการทิ้งงาน ซึ่งจะมีผู้รับเหมาเข้าร่วมประมูลได้น้อย 8-10 ราย ไจก้าจึงปรับลดเกณฑ์ลงบ้างแต่ยังอยู่ในระดับที่เป็นมาตรฐาน โดยหลังเปิดขายซองสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-คูคต มีผู้รับเหมาซื้อเอกสารไปมากถึง 31 ราย
นายยงสิทธิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องค้างที่ต้องรอบอร์ดชุดใหม่พิจารณา คือ การประเมินผลการทำงานของผู้ว่าฯ รฟม. และนายธนสาร สุรวุฒิกุล หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน (CFO) ในรอบ 6 เดือน (กันยายน 2556-มีนาคม 2557) อีกด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม บอร์ด รฟม.ได้ประชุมและมีมติให้ รฟม.ไปปรับแก้ทีโออาร์ การประมูลสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-คูคต ใหม่ในหลักเกณฑ์การกำหนดคุณสมบัติและการให้คะแนน ในส่วนของข้อกำหนดรายได้เฉลี่ยจากการก่อสร้างของผู้เสนอราคาย้อนหลัง 3 ปี (Tureover) ในอัตรา 2.5% ของมูลค่าแต่ละสัญญาเหมือนกันทุกสัญญา จากเดิมที่ใช้หลักนี้เฉพาะสัญญาที่ 1 และหากคำนวณมูลค่างานย้อนหลังในอัตรา 2.5% แล้วมีเศษ ให้ปัดเศษนั้นขึ้นเป็นจำนวนเต็มหลักร้อยล้านบาทจากเดิมปัดใช้หลักพันล้านบาท เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งการปรับแก้ดังกล่าวเกิดจากมีผู้รับเหมาได้ทำหนังสือร้องเรียนมาที่ รฟม. กรณีกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขทีโออาร์ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกสัญญา และทำให้เอื้อประโยชน์ต่อผู้รับเหมารายใดรายหนึ่ง แต่การปรับทีโออาร์ยังไม่มีผลเนื่องจากบอร์ดไม่มีการประชุม