รฟม.แจงกำหนดเงื่อนไข TOR ประมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-คูคต ไม่มีล็อกสเปก กีดกันหรือเอื้อประโยชน์รายใดรายหนึ่ง ชี้ข้อมูลผู้รับเหมาร้องเรียนคลาดเคลื่อน เผย TOR เปิดกว้างเพื่อให้ได้ผู้รับเหมามีศักยภาพ ชี้ซื้อซอง 31 รายเป็นการันตีโปร่งใส ด้าน “ชัชชาติ” โยนบอร์ดพิจารณา ชี้เร่งประมูลเสร็จเร็วก็เท่านั้นเพราะต้องรอรัฐบาลใหม่อนุมัติ คาดเปิดยื่นซองได้ใน มิ.ย.นี้
วันนี้ (14 พ.ค.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ชี้แจงกรณีที่มีข่าวว่ามีบริษัทผู้รับเหมารายหนึ่งร้องเรียนเกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขด้านเทคนิคการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ว่ามีการเอื้อประโยชน์หรือกีดกันผู้หนึ่งผู้ใด และร้องขอให้แก้ไข TOR นั้น การร้องเรียนดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง รฟม.มิได้มีการเอื้อประโยชน์หรือกีดกันผู้หนึ่งผู้ใดตามที่ร้องเรียนและกล่าวหา เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนสูง และมีความสำคัญกับระบบขนส่งมวลชนอย่างมาก ดังนั้น ในการประกวดราคาทุกครั้ง รฟม.ให้ความสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการตามแผนงาน โดยต้องจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีคุณสมบัติเหมาะสม มีศักยภาพและความพร้อมในด้านต่างๆ โดยดำเนินการตามข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ และตามวิธีที่ปฏิบัติกันมาในการประกวดราคาโครงการต่างๆ ที่ผ่านมาของ รฟม. และตามความเหมาะสมของประเภทงาน รวมทั้งมีการเปิดกว้างให้มีการแข่งขันมากขึ้นในครั้งนี้ด้วยเพราะยังเปิดโอกาสให้ผู้สนใจหลายรายสามารถยื่นข้อเสนอแบบรวมคุณสมบัติในลักษณะ Joint Venture หรือ Consortium ได้ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้ดีขึ้นหรือครบถ้วนขึ้น อันเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมแข่งขันได้มากขึ้นอย่างมาก จนมีผู้สนใจเข้าซื้อเอกสารการประมูลมากเป็นประวัติการณ์ถึง 31 ราย
โดยขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการประกวดราคา การร้องขอให้แก้ไขใดๆ รฟม.ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่กระทบสิทธิของผู้สนใจเข้าประกวดราคารายอื่นจำนวนมาก และหากมีผู้กระทำการใดๆ ที่ส่งผลกระทบในทางเสียหายต่อ รฟม. และการประกวดราคานี้ รฟม.จะพิจารณาดำเนินการตามเงื่อนไขในเอกสารและตามข้อบังคับการประกวดราคาและตามข้อกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือร้องเรียนมายัง รฟม.ว่า การกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขด้านเทคนิคของการประมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีลักษณะกีดกันให้มีผู้ยื่นแข่งขันได้น้อยราย โดยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการประกวดราคา และการให้คะแนนที่กำหนดรายได้เฉลี่ยจากการก่อสร้างของผู้เสนอราคาย้อนหลัง 3 ปีไม่อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน
นานชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรณีมีผู้รับเหมาร้องเรียน รฟม.กำหนดเงื่อนไขประมูลสายสีเขียวไม่เป็นธรรมนั้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ต้องพิจารณา ไม่ใช่อำนาจ รมต.เพราะเป็นเรื่อง TOR ซึ่งไม่น่ามีปัญหาเกิดขึ้นเพราะ รฟม.เคยเปิดประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้ามาก่อนแล้วไม่ใช่สายแรกควรยึดหลักการเดียวกัน เชื่อว่าใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว ยอมรับว่าโครงการมีรายละเอียดมาก แต่เน้นให้มีการแข่งขันและเป็นธรรม และยืนยันไม่เกี่ยวกับการเมืองแน่นอน โดยสัปดาห์หน้าจะประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าทุกสาย อย่างไรก็ตาม เมื่อประมูลสายสีเขียวแล้วเสร็จจะต้องรอ ครม.ชุดใหม่อนุมัติอยู่ดี ดังนั้นยังมีเวลา ไม่กระทบอะไร
ด้านนายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าฯ รฟม. กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม.วันที่ 22 พฤษภาคมนี้จะหารือถึงปัญหาของสายสีเขียวทั้งหมด คาดว่าจะได้ข้อสรุปและเปิดให้ยื่นข้อเสนอได้ในเดือนมิถุนายนนี้ หลังจากเลื่อนจากกำหนดเดิมวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งยอมรับว่ากรณีที่มีผู้รับเหมาร้องเรียนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เสียเวลาในการชี้แจง รวมถึงมีเอกชนสอบถามข้อสงสัยต่างๆ เข้ามาถึง 1,000 ข้อ จึงต้องใช้เวลาในการชี้แจง เนื่องจากมีประเด็นเทคนิคมาก เพราะออกแบบมาตั้งแต่ปี 51 โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อีกทั้งมีการปรับแบบในหลายจุดด้วย โดยยืนยันว่าคณะกรรมการกำหนด TOR เปิดกว้างให้มีการแข่งขันอย่างเต็มที่ ทำให้มีเอกชนมาซื้อซองมากถึง 31 ราย และมีร้องเรียนเพียงรายเดียว