xs
xsm
sm
md
lg

ช.การช่างฯ รับค่าจ้างสายสีเขียวเพิ่ม 137 ล้าน เหตุ รฟม.เพิ่มรางที่สถานีสำโรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากเว็ปไซด์ รฟม.
บอร์ด รฟม.อนุมัติเพิ่มราง (Pocket Track) ที่สถานีสำโรง สายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) รองรับการเชื่อมต่อในอนาคต ช.การช่างฯ รับค่าจ้างเพิ่ม 137 ล้านบาท ส่วนโครงสร้างฐานรากสายสีน้ำเงินช่วงสามแยกไฟฉายได้ข้อสรุป จ่ายเงิน กำแพงเพชรวิวัฒน์ฯ ก่อสร้างคู่โครงสร้างอุโมงค์ลอดแยกไฟฉาย พร้อมเห็นชอบประเดิมเดินรถสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) เองเพื่อพิสูจน์ฝีมือ แทนจ้างอย่างเดียว

นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้ รฟม.เพิ่มงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ในสัญญาที่ 1 (งานก่อสร้างโครงสร้างยกระดับ) ที่มีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เป็นผู้รับเหมา โดยเป็นการก่อสร้างรางข้างเคียงรางเดิม (Pocket Track) ที่สถานีสำโรง วงเงิน 137 ล้านบาท เพื่อเตรียมไว้รองรับการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าสายทางเพิ่มเติมในอนาคต โดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งมีสายทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว

“ก่อนหน้ายังไม่ได้มองเรื่องนี้ไว้ แต่พอลงมือก่อสร้างก็เห็นว่าควรมีงานตรงนี้เพิ่มเข้ามาเพื่อเตรียมไว้สำหรับการเชื่อมต่อในอนาคต เพราะหากใช้แค่รางเดิมก็จะไม่เพียงพอ ซึ่งการเพิ่มงานนี้ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบให้โครงการล่าช้า” นางสาวรัชนีกล่าว

นอกจากนี้บอร์ดยังมีมติเห็นชอบให้ รฟม.จ่ายเงินจำนวน 281 ล้านบาทให้กิจการร่วมค้า SH-UN (บริษัท ชิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น จำกัด กับบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ) ผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค สัญญาที่ 3 (เส้นทางยกระดับช่วงเตาปูน-ท่าพระ) เพื่อนำไปจ่ายให้บริษัท กำแพงเพชรวิวัฒน์ก่อสร้าง จำกัด ผู้รับงานก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดบริเวณแยกไฟฉายของ กทม.อีกต่อหนึ่ง โดยบริษัท กำแพงเพชรวิวัฒน์ฯ จะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างฐานรากทางวิ่งรถไฟฟ้าบริเวณสถานีแยกไฟฉาย เพื่อแก้ปัญหางานโครงสร้างของทั้ง 2 โครงการซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน

นางสาวรัชนีกล่าวว่า บอร์ดมีมติเห็นชอบให้ รฟม.เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ซึ่งจะเป็นรถไฟฟ้าสายทางแรกที่ รฟม.เดินรถเอง โดย รฟม.จะต้องศึกษาว่าจะใช้บุคลากรที่มีอยู่ หรือตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เดินรถ เชื่อว่าจะเป็นโอกาสที่ รฟม.จะพิสูจน์ว่าสามารถเดินรถเองได้หรือไม่ มีข้อดีข้อเสียอย่างไรหากเปรียบเทียบกับการจ้างเอกชนเดินรถ เนื่องจากเป็นโครงการไม่ใหญ่มากนักมูลค่าประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท โดยจะเสนอขอความเห็นชอบรัฐบาลใหม่ด้วย

สำหรับความคืบหน้าการยื่นเอกสารประกวดราคางานโยธาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) วงเงิน 26,569 ล้านบาท ซึ่ง รฟม.ประกาศเลื่อนกำหนดยื่นเอกสารจากวันที่ 11 เมษายน 2557 อย่างไม่มีกำหนดนั้น ล่าสุดได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการกฎหมาย รฟม.พิจารณารายละเอียดทุกข้อคำถาม จากนั้นบอร์ดจะประชุมวาระพิเศษเพื่อพิจารณาเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ ก่อนประกาศวันยื่นเอกสารต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น