รฟม.เร่งสรุป TOR เตรียมเปิดประมูลงานระบบเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระ หัวลำโพง-บางแค) 2.2 หมื่นล้านต้น ก.พ.นี้ ใช้รูปแบบ PPP-Gross Cost หรือจ้างวิ่งเหมือนสีม่วงแต่ประมูลเปิดกว้างแข่งขันหลายราย หวังเจรจาเพื่อได้ราคาถูกที่สุด คาดสรุปผลใน 1 ปี ด้าน BMCL ปลื้มผู้โดยสารรถใต้ดินทำสถิติใหม่ 3.6 แสนคน/วัน โต30% ชัตดาวน์กรุงเทพฯ ดัน Q1/57 สดใส
นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) ของโครงการรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ หัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 27 กิโลเมตร ที่มีนายรณชิต แย้มสอาด รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รฟม. เตรียมสรุปร่างเอกสารขอบเขตงานการประกวดราคา (TOR) ในสัญญาที่ 6 (งานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถ และการบริหารจัดการเดินรถ) กรอบวงเงินประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ หลังจากนั้นจะประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมประมูลได้ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ และจะใช้เวลาอีก 4-5 เดือนในการจัดทำเอกสารประกวด คาดว่าจะเปิดให้ยื่นเอกสารประกวดราคาได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2557 หรือประมาณเดือนกันยายน
ทั้งนี้ การเดินรถรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินสัญญา 6 จะใช้รูปแบบสัญญาสัมปทานเป็นแบบ PPP-Gross Cost คือรัฐลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และจัดเก็บค่าโดยสาร โดยให้เอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้าทำหน้าที่เดินรถแล้วจ่ายเป็นเงินค่าจ้างแบบกำหนดราคาคงที่ ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ แต่จะมีการกำหนดรายละเอียดใน TOR แตกต่างกัน เช่น กำหนดวิธีการประมูลที่รัดกุมพื่อให้การแข่งขันที่เปิดกว้างมากที่สุด ทำให้ราคางานลดลง เช่น อยากให้มีคู่แข่งมากขึ้น จากประสบการณ์ของสายสีม่วงที่มีคู่แข่งงานระบบรถไฟฟ้าแค่ 2 ราย ทำให้ราคางานสูง การต่อรองมีไม่มาก และใช้เวลานาน แต่ครั้งนี้จะมีการปรับรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้เข้าร่วมประมูลใหม่ จากที่ต้องเคยมีประสบการณ์เดินรถไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นเคยเดินรถไฟฟ้าที่ใดก็ได้ เป็นต้น
“ตอนเปิดประมูลหาคนเดินรถไฟฟ้า BTS กับรถไฟฟ้า MRT ก็ไม่ได้กำหนดว่าผู้ยื่นต้องเคยเดินรถในไทย เพราะตอนนั้นไม่เคยมีรถไฟฟ้าในไทยมาก่อน ซึ่งการปรับตรงนี้จะทำให้มีผู้เข้าร่วมแข่งขันมากขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ นอกจากนี้ยังให้มีการกำหนดระยะเวลาการเจรจาที่ชัดเจน หากถึงกำหนดแล้วการเจรจายังไม่เป็นที่น่าพอใจสามารถเรียกรายอื่นมาเจรจาแทนได้ทันที คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการตั้งแต่เริ่มประกาศประกวดราคาจนถึงขั้นเจรจาเสร็จสิ้นประมาณ 10-12 เดือน ซึ่งจะทำให้การดำเนินการทำได้รวดเร็วตามแผน ไม่ล่าช้าเหมือนสายสีม่วงที่ใช้เวลาเจรจานานถึง 2 ปี” นายยงสิทธิ์กล่าว
***ผู้โดยสารกระฉูด รถไฟฟ้า MRT ทำสถิติใหม่ 3.6 แสนคน/วัน
นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมารถไฟฟ้า MRT มีผู้โดยสารถึง 3.6 แสนคน ซึ่งเป็นสถิติใหม่จากปกติที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 2.5-2.7 แสนคนต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 30% ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีผู้โดยสารมากขึ้นจำนวนมากมาจากการเดินทางโดยรถยนต์ไม่สะดวกเพราะมีการปิดถนนในหลายจุด ซึ่งในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยอมรับว่าเป็นปัจจัยระยะสั้น แต่จะมีผลต่อการดำเนินงานช่วงไตรมาส 1/2557 (ม.ค.-มี.ค.) ของ BMCL ที่จะเติบโตตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม หากการชุมนุมทางการเมืองยุติลง เชื่อว่าจะมีผู้โดยสารส่วนหนึ่งที่เป็นผู้โดยสารที่เพิ่งหันมาใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินยังคงจะใช้บริการต่อไปเพราะเห็นแล้วว่ามีความสะดวกกว่าใช้รถยนต์ ดังนั้นจึงมั่นใจว่าจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าจะมีการเติบโตในระดับที่น่าพอใจ