xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.เผยผู้โดยสารรถใต้ดินพุ่ง 20% ชัตดาวน์กรุงเทพฯ คนทิ้งรถส่วนตัวหันใช้รถสาธารณะแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
รฟม.เผยจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินช่วง กปปส.ชัตดาวน์กรุงเทพฯ เพิ่มจากปกติ 20% หรือเพิ่มเป็น 3.2-3.3 หมื่นเที่ยวคน/วันจาก 2.7 คน/วัน ชี้คนกรุงเทพฯ ทิ้งรถส่วนตัวหันใช้รถสาธารณะแทน พร้อมยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยดูแลผู้โดยสารเต็มที่

วันนี้ (21 ม.ค.) เวลา 16.15 น. ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สุขุมวิท นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้สำรวจความพร้อมการให้บริการภายในสถานีและมาตรการการให้บริการประชาชนในช่วงที่มีการชุมนุมปิดถนนชัตดาวน์กรุงเทพฯ ของกลุ่ม กปปส. โดยนายยงสิทธิ์เปิดเผยว่า ตั้งแต่ที่กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.มีมาตรการชัตดาวน์กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา พบว่าปริมาณของผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยวันละ 3.2-3.3 หมื่นเที่ยวคน หรือเพิ่มขึ้น 20% จากช่วงปกติที่มีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 2.7 หมื่นเที่ยวคน ส่วนในวันอาทิตย์มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มเป็น 1.9 หมื่นเที่ยวคน จากช่วงปกติอยู่ที่ประมาณ 1.7 เที่ยวคน คาดว่าเกิดจากมีคนทิ้งรถส่วนตัวมาใช้บริการรถใต้ดินมากขึ้น ประกอบกับผู้ชุมนุมเองได้มาใช้บริการรถไฟฟ้าเพื่อเดินทางเข้าร่วมชุมนุมด้วย โดยขณะนี้ปริมาณผู้โดยสารเริ่มอยู่ตัวแล้วไม่เพิ่มไม่ลดจากสัปดาห์แรกของการปิดกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันกลับพบว่าที่จอดรถที่เตรียมเพิ่มไว้ให้ผู้โดยสารมาจอดกลับมีรถมาจอดน้อยลง คาดว่าประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้บริการรถสาธารณะแทนเป็นส่วนใหญ่

สำหรับมาตรการในการให้บริการประชาชนในช่วงนี้ จะมีการตั้งโต๊ะจำหน่ายตั๋วเพิ่มจากเคาน์เตอร์และตู้จำหน่ายตั๋วปกติ เน้นสถานีที่มีผู้โดยสารเป็นจำนวนมากและเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทาง ส่วนความถี่ของขบวนรถในเวลาเร่งด่วนช่วงเช้าอยู่ที่ 3.15 นาที/ขบวนเท่ากับช่วงปกติ แต่จะใช้จำนวนขบวนรถทั้ง 19 ขบวนทั้งหมด และขยายเวลาช่วงเร่งด่วนจนถึงเวลา 09.30 น. ขณะที่เร่งด่วนช่วงเย็นใช้ขบวนรถออกวิ่ง 18 ขบวน ความถี่ 3.50 นาที/ขบวน ตั้งแต่เวลา 16.30-20.30 น. โดยจะมีการตัดรถเสริมให้บริการระยะสั้น หรือวิ่งรถเปล่าไปรับผู้โดยสารสถานีกลางทาง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหารถแน่นจากต้นทางแล้วขึ้นไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันว่ายังเปิดให้บริการรถไฟฟ้า MRT ได้ทุกสถานีตามปกติ แม้ผู้ชุมนุมจะมีการยกระดับการชุมนุมขึ้นเรื่อยๆ แต่มีมาตรการเตรียมพร้อมไว้แล้ว โดยสถานีที่น่าเป็นห่วงต้องเฝ้าระวังคือสถานีที่อยู่ใกล้พื้นที่ชุมนุม ทั้งสุขุมวิท จตุจักร พหลโยธิน ซึ่งมีมาตรการตรวจสัมภาระผ่านเครื่องสแกน (walk thru) มากขึ้น และหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินจะทำการปิดทางขึ้นลงสถานีในจุดที่มีเหตุการณ์ความเสี่ยงบางสถานีทันที โดยจะยังให้บริการต่อในสถานีที่เหลือเหมือนที่เคยปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 และเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อปี 2553 ส่วนกรณีที่เคยปิดให้บริการตลอดสายเคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2553 ที่เกิดเหตการณ์ความรุนแรงจนต้องปิดบริการไป 9 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น