ประธานกก.มาตรา 13 เผยคนใหม่เผยยึดความเห็นบอร์ด รฟม.ให้เดินรถต่อเนื่องเป็นโจทย์หลัก พิจารณาเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ส่อกลับมติชุดเดิมจากประมูลเป็นเจรจาตรง BMCL วงในชี้ไม่ง่ายเหตุทั้งผู้แทนคลังและสศช.โหวดชัดเจนไม่เอาเจรจา ชี้รัญเสียประโยชน์ เข้าข่ายผูกขาด เผยเหตุผลต้องให้ BMCL เพื่อเดินรถต่อเนื่องไม่ใช่คำตอบทุกวันนี้รถใต้ดินไปบางซื่อ ผู้โดยสารยังต้องลงรถที่จตุจักรเพื่อต่ออีกขบวน
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้ว่า (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะประธานคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ35) ในการคัดเลือกเอกชนดำเนินการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค และ บางซื่อ-ท่าพระ) ระยะทาง 27
กิโลเมตร เปิดเผยว่า เบื้องต้นจะต้องศึกษาข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาที่ผ่านมาก่อน โดยหลักการจะต้องดูว่าสิ่งที่ต้องการคืออะไร ซึ่งทางคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ที่มีพล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ เป็นประธานได้เน้นในเรื่อง การเดินรถต่อเนื่อง โดยมองที่ผู้โดยสารเป็นหลักว่าจะต้องไม่เสียเวลาเดินเพื่อต่อรถอีกขบวน โดยเฉพาะที่สถานีเตาปูน เป็นต้นดังนั้น กก.มาตรา 13 จะถือเรื่องการเดินรถต่อเนื่องเป็นโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้สำเร็จตามนั้นได้
โดยคาดว่าจะเรียกประชุมคณะกรรมการมาตรา 13 ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ซึ่งจะต้องรับฟังความเห็นจากกรรมการทุกคนก่อน โดยหากที่ประชุมลงมติให้ปรับเปลี่ยนแนวทางจากการประกวดราคาเป็นการเจรจาตรงกับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนในมาตรา 16 ของพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35และตามขั้นตอนต้องเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาหากเปลี่ยนวิธีเป็นการเจราจรตรง
"คำสั่งแต่งตั้งเป็นประธานมาตรา 13 เพิ่งออกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คงต้องขอเวบาศึกษารายละเอียดทั้งหมดก่อน เพราะที่ผ่านมา กรรมการ 13 มีความเห็นหลากหลายมาก และส่วนตัวไม่ได้ติดตามเรื่องมาก่อน ซึ่งแม้บอร์ดจะให้โจทย์ที่ชัดเจน แต่การพิจารณามีขั้นตอน และวิธี การเจรจาอาจจะมีล่าช้าบ้างเพราะมีขั้นตอนตามกฎหมาย"นายพีระยุทธกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าฯรฟม. ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้ว่าฯรฟม.(วิศวกรรมและก่อสร้าง) เป็นประธานคณะกรรมการมาตรา 13 แทน นายรณชิต แย้มสอาด รองผู้ว่าฯ รฟม.และแต่ตั้งนายภคพงษ์ ศิริกันทรมาศ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานก่อสร้าง 1 รฟม.เป็นกรรมการและเลขานุการกรรมการมาตรา 13แทนนายสุชิน ศศิประภากุล ผู้ช่วยผู้ว่าการฯรฟม.
โดยกก.มาตรา13 ชุดเดิมได้มีมติเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ไม่เห็นควรให้เจรจาตรงโดยวิธีพิเศษตามพ.ร.บ.ร่วมทุน ฯ 2535 มาตรา 16 ให้ BMCL เป็นผู้มีสิทธิเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เนื่องจากไม่เห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น หากกก.มาตรา 13 มีการพิจารณาใหม่และกลับมติให้เป็นเจรจาตรง จะต้องเสนอไปที่สศช.และคลังเพื่อขอความเห็นชอบซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนและมีความเป็นได้สูงที่ ทั้ง 2 หน่วยจะไม่เห็นด้วยกับการเจรจาตรง เนื่องจากทั้งสศช.และคลัง มีผู้แทนระดับ 10 ในกก.มาตรา13 และแสดงความเห็นชัดเจนว่าให้ประกวดราคาเพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุด สอดคล้องกับความเห็นที่ทั้งสองหน่วยได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีมติให้ประกวดราคาคัดเลือกผู้เดินรถ เพราะจะทำให้เกิดการแข่งขันที่สมบูรณ์ป้องกันการผูกขาด รัฐได้ประโยชน์จากการแข่งขันมากกว่าการเจรจา โดยหากเปิดประกวดราคา BMCL ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานเดินรถเดิมมีความได้ปรียบเอกชนรายอื่นอยู่แล้ว ครม.จึงมีมติให้ประกวดราคาเดินรถพร้อมกับแยก ศูนย์ซ่อมบำรุง (เดปโป้) ออกจากกัน ใช้เงินลงทุน 3,000-4,000 ล้านบาทแต่จะใช้เป็นที่จอดรถไฟฟ้าเท่านั้นทำให้รัฐเสียหายมาก
"ที่ผ่านมา ทั้งคลังและสศช.ไม่เห็นด้วยกับการเจรจาเพราะรัฐเสียเปรียบ ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ และเห็นว่าวิธีประมูลนั้นดีที่สุด ส่วนการเจรจาต้อบมีกรอบ มีราคากลาง ซึ่งยังไม่มีการวิเคราะห์ไว้ จะเสียเวลาอีกมาก ส่วนเหตุผลเดินรถต่อเนื่อง นั้น ได้มีการออกแบบและทำแผนให้บริการไว้รองรับแล้ว ไม่มีปัญหา ประชาชนไม่ลำบากและการเป็นผูัเดินรถรายเดียวกันไม่ใช่คำตอบว่าจะเดินรถต่อเนื่อง โดยผู้โดยสารไม่ต้องลงจากรถ เพราะปัจจุบันรถไฟฟ้าใต้ดินของ BMCL ในช่วงเวลาเร่งด่วนผู้โดยสารที่จะไปบางซื่อจะต้องลงจากขบวนรถที่จตุจักรเพื่อรอรถอีก1ขบวน เพราะมีการตัดสายจัดเดินรถไปบางซื่อ แบบขบวนเว้นขบวน ทั้งๆที่วิ่งแบบต่อเนื่องแต่ทำไมต้องลงจากขบวนรถอย่างไรก็ตาม สัญญาเดินรถรถไฟใต้ดิน ของ BMCL จะหมดในปี 72 ซึ่งรฟม.สามารถเดินรถต่อเนื่องกับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายได้โดยไม่ต้องเจรจากับเอกชนให้เสียเปรียบในตอนนี้เลย"แหล่งข่าวกล่าว