xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ยันพัฒนาศูนย์ซ่อมห้วยขวางได้ไม่ผิด กม. ผุดคอมเพล็กซ์-ศูนย์ประชุมเพิ่มผู้โดยสารรถไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าฯ รฟม.เตรียมชงบอร์ดเห็นชอบแผนพัฒนาที่ดินศูนย์ซ่อมห้วยขวาง 1,000 ไร่ ยันไม่ขัดกฎหมายเวนคืน หลังกฤษฎักาตีความทำได้หากใช้ประโยชน์สมประโยชน์แล้ว เตรียมผุดคอมเพล็กซ์เหนือศูนย์ซ่อมสีส้ม เนรมิตเป็นศูนย์ประชุมกลางเมือง ชอปปิ้ง โรงแรม และนิคมแนวดิ่ง ฟุังสร้างรายได้แสนล้าน ใช้หนี้ค่าก่อสร้างได้

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนพัฒนาที่ดินย่านพระราม 9 (ห้วยขวาง) จำนวน 1,000 ไร่ ว่า ล่าสุดกฤษฎีกาได้ตีความข้อกฎหมายว่า หากพื้นที่เวนคืนเพื่อระบบขนส่งมวลชนใช้สมประโยชน์แล้วสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้ ซึ่งตามแผน รฟม.ได้ใช้พื้นที่ประมาณ500 ไร่ในการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เฉลิมรัชมงคล และสำนักงานใหญ่ของ รฟม.ไปแล้ว และในอนาคตจะก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงของรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรีอีก 1 แห่งบนที่ดินส่วนที่เหลือประมาณ 500ไร่ ซึ่งถือว่าได้ใช้ที่ดินสมประโยชน์แล้ว ดังนั้นการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาพื้นที่สามารถทำได้ โดยตามแผนใช้พื้นที่ด้านบนเหนือศูนย์ซ่อมบำรุงของสายสีส้มมาพัฒนา

ทั้งนี้ รฟม.ได้ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ศึกษาทบทวนแผนการพัฒนาที่ดินศูนย์ซ่อมห้วยขวางเพื่อให้สอดล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 57 และจะสรุปผลการศึกษาเบื้องต้นในเดือนกันยายนนี้ โดยหลังจากนั้นจะนำเสนอแผนดังกล่าวต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่มี พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ เป็นประธานพิจารณา และขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ในขณะเดียวกัน รฟม.จะเร่งตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินการ

สำหรับที่ดินบริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงห้วยขวาง ถนนพระราม 9 จำนวน 1,000 ไร่ มูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ รฟม.เคยประเมินว่าจะสร้างรายได้ได้มากกว่า 1 แสนล้านบาท โดยมีแนวคิดจัดสรรพื้นที่เหนือศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งจะก่อสร้างฐานรากไว้เผื่อการพัฒนาด้านบน เปิดให้เอกชนมาร่วมพัฒนา ได้แก่ 1. ศูนย์ประชุมระดับชาติ 2. โรงแรม 3. สำนักงานให้เช่า 4. ศูนย์การค้า 5. ศูนย์แสดงสินค้า หรือนิคมไฮเทคในแนวดิ่ง เป็นต้น

“กฎหมายไม่ได้เขียนว่าห้ามพัฒนา ดังนั้นอยู่ที่การตีความ ซึ่งล่าสุดกฤษฎีกายืนยันแล้วและต้องใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่ง รฟม.เห็นว่าเมื่อนำมาก่อสร้างในส่วนที่รองรับกับการให้บริการรถไฟฟ้าแล้ว ส่วนที่หลือสามารถนำมาพัฒนาเพื่อเพิ่มรายได้ให้ รฟม.ได้ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐบาลที่มีนโยบายสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจพัฒนาพื้นที่เพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ได้มีมติให้ รฟม. การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ทำแผนการพัฒนาพื้นที่” นายยงสิทธิ์กล่าว

นายยงสิทธิ์กล่าวว่า รฟม.มีแผนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บริเวณพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development : TOD) ซึ่งต้องยอมรับว่าการพัฒนาในส่วนที่ต้องร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ อาจจะมีปัญหาล่าช้า ในขณะที่การพัฒนาศูนย์ซ่อมห้วยขวางนั้น รฟม.จะดำเนินการเอง ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 เพื่อความรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรถไฟฟ้าแน่นอน เนื่องจากจะสามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารจากกิจกรรมในพื้นที่เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าได้ ทำให้มีรายได้จากค่าโดยสารและกิจกรรมภายในสถานีเพิ่มขึ้น ในขณะที่จะมีรายได้จากการพัฒนาพื้นที่ TOD อีกจำนวนมากสามารถนำมาใช้หนี้หลายแสนล้านบาทได้


กำลังโหลดความคิดเห็น