“อาคม” ถก “ไจก้า” พัฒนาเส้นทางรถไฟแนวเศรษฐกิจด้านใต้ “กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง-อรัญประเทศ” จ่อก่อสร้างไอซีดี 2 แห่ง “เชียงรากน้อย-อมตะ” รองรับสินค้าจากนิคมอุตฯ ในพื้นที่ พร้อมเตรียมตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่น บริหารการตลาด
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับตัวแทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการพัฒนารถไฟเส้นทางตามแนวเศรษฐกิจด้านใต้ (Southern Economic Corridor) เส้นทางกาญจนบุรี (บ้านพุน้ำร้อน)-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ระยะทาง 574 กม. ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ในการปรับปรุงการขนส่งสินค้าทางรถไฟนั้นจำเป็นที่ต้องมีสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง หรือไอซีดี อีก 2 แห่ง คือ เชียงรากน้อย จังหวัดปทุมธานี และอมตะนคร จังหวัดชลบุรี ซึ่งทั้ง 2 แห่งมีความเหมาะสมด้านกายภาพเนื่องจากมีนิคมอุตสาหกรรมอยู่จำนวนมาก ในขณะที่ไทยได้เสนอให้พิจารณาก่อสร้างไอซีดีเพิ่มอีก 1 แห่ง คือที่ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีรถไฟชุมทางบัวใหญ่ และเป็นจุดรองรับสินค้าจากจังหวัดขอนแก่นด้วย โดยจะขนส่งสินค้าแบบตู้คอนเทนเนอร์เล็กขนาด 12 ฟุต ซึ่งจากการสำรวจพบลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (SME)
ทั้งนี้ ในส่วนของรูปแบบการบริหารและการลงทุนนั้น จะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างไทย-ญี่ปุ่น โดยฝ่ายไทยมีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ถือหุ้นเพื่อดำเนินการด้านการตลาด และการขาย เนื่องจากญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญในการบริหารการตลาดสำหรับตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 12 ฟุต โดยจะมีการสรุปรายละเอียด รูปแบบและสัดส่วนการถือหุ้นที่ชัดเจนอีกครั้ง
นอกจากนี้ ไทยยังได้เสนอให้ญี่ปุ่นช่วยศึกษารายละเอียดเพื่อสร้างทางรถไฟแนวใหม่จากเชียงรากน้อยไปยังคลอง 21 เพื่อเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) โดยไม่ต้องผ่านมายังสถานีกลางบางซื่อ มีระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยลดความแออัดในการเดินรถ เนื่องจากสถานีกลางบางซื่อเป็นเทอร์มินอลใหญ่ที่รองรับระบบรางทุกประเภทโดยเน้นการขนส่งผู้โดยสาร จะสามารถสรุปผลศึกษาได้ภายในเดือนตุลาคม 2559
ส่วนการทดลองเดินรถขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 12 ฟุต เส้นทางที่ 1 เส้นทางบางซื่อ-ลำพูน-บางซื่อ ระยะทาง 722 กม. โดยกำหนดให้สถานีลำพูนเป็นพื้นที่กระจายสินค้าในภาคเหนือ เปิดให้ทดลองใช้บริการระหว่างวันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ 2559 เส้นทางที่ 2 เส้นทางบางซื่อ-กุดจิก (จ.นครราชสีมา)-ท่าพระ (จ.ขอนแก่น)-กุดจิก (จ.นครราชสีมา)-บางซื่อ ระยะทาง 433 กม. โดยมีสถานีกุดจิก และสถานีท่าพระเป็นพื้นที่กระจายสินค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ซึ่งตู้ขนาด 12 ฟุตเหมาะสมในการขนส่งสินค้าธุรกิจขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งประเทศที่ให้ความสนใจคือ เกาหลี, ญี่ปุ่น และจีน เนื่องจากเพิ่มความสะดวกด้านการขนส่ง ในส่วนของผู้ประกอบการเอกชนไทยให้ความสนใจลงทุนตู้สินค้าขนาด 10 ฟุตมากกว่า ซึ่งขนาดเล็กกว่าที่ได้มีการทดลอง โดยในอนาคตประเทศไทยต้องมีแผนใช้รถขนาดเล็กเพื่อการขนส่งสินค้ามากขึ้น