xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.ผนึก กทท.ปั้นศูนย์ขนส่งทางราง หวัง 5 ปีปริมาณสินค้าเพิ่มเป็น 2 ล้านตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ร.ฟ.ท.-กทท.” เซ็นเอ็มโอยูร่วมมือพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถขนส่งตู้สินค้า ระหว่างไอซีดี-แหลมฉบัง ซื้อแคร่ขนสินค้า 308 คัน ตั้งเป้าขนส่งทางรางเพิ่มเป็น 2 ล้านตัน/ปี ภายใน 5 ปี และเพิ่มขนส่งทางรางด้วยคอนเทนเนอร์ภายในประเทศอีกเท่าตัว จาก 7 ล้านตัน/ปี เป็น 15 ล้านตัน/ปี ร.ฟ.ท.ยันมีรายได้เพิ่มแน่นอน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการลงนามพิธีบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ว่าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจะต้องพัฒนาการขนส่งสินค้าโดยเชื่อมต่อ ถนน รางและเรือ ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้จัดซื้อรถโบกี้บรรทุกตู้สินค้าและเครื่องอะไหล่จำนวน 308 คัน ขนาดน้ำหนัก 20 ตัน/เพลา วงเงิน 7,229 ล้านบาท โดยได้รับมอบแล้ว 150 คัน การประกอบและทดสอบการใช้งานอย่างเต็มระบบก่อนเปิดให้บริการขนส่งสินค้าในปลายปีนี้ ส่วนโบกี้บรรทุกสินค้าที่เหลืออีก 158 คัน จะทยอยส่งมอบอีกครั้งในเดือนกันยายนนี้ โดยคาดว่า รถขนส่งสินค้าใหม่จะเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางเป็น 2 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันที่มีปริมาณที่ 5 แสน - 1 ล้านตันต่อปี และช่วยลดการใช้รถบรรทุกในการรับ-ส่งสินค้าระหว่างท่าเรือ และสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ลาดกระบัง

นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงขยายถนนภายในท่าเรือแหลมฉบังจาก 4 ช่องจราจรเป็น 14 ช่องจราจร ปรับปรุงสัญญาณไฟจราจรและก่อสร้างจุดกลับรถ ทั้งนี้ โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (SRTO) วงเงินลงทุน 2,994 ล้านบาทนั้น กทท.ได้ทำสัญญากับบริษัท ITD-WH Consortium ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 18 เดือน หรือประมาณเดือนตุลาคม 2560 ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2561 และคาดว่าจะรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ 2 ล้านอีทียูต่อปี

ด้าน ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า ได้มีการปรับพื้นที่บริเวณหน้าท่าเรือเพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากขนาด 80,000 ตันกรอส เป็น 100,000 ตันกรอส ส่วนโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จได้ตามแผนในปีหน้า

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ดังกล่าว เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้บริการศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ และไอซีดี ลาดกระบัง มีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการนำเข้าส่งออก และบุคคลทั่วไป ที่สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ถึง ประมาณ 400,000 ทีอียู/ปี ถึง 600,000 ทีอียู/ปี โดยคาดว่าจะเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง เป็น 2,000,000 ทีอียู/ปี ภายใน 5 ปี และช่วยเพิ่มปริมาณการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟจากท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ไปยังไอซีดี ลาดกระบังได้ 30,000 ทีอียู/ปี

ส่วนรถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า 308 คันนั้นจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งและเสริมสร้างสมรรถภาพการขนส่งคอนเทนเนอร์ภายในประเทศสูงอีกเท่าตัว จากปัจจุบันขนส่งได้ 7 ล้านตัน/ปี คาดว่าจะเพิ่มปริมาณการขนส่งได้เป็น 15 ล้านตัน/ปี สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ ร.ฟ.ท.โดยรวมได้ดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น