xs
xsm
sm
md
lg

การท่าเรือฯ เคาะอี-ออกชันศูนย์ขนส่งทางรางกว่า 2 พันล้าน 25 มี.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กทท.เคาะประมูล “ศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟแหลมฉบัง” กว่า 2 พันล้าน 25 มี.ค.นี้ เตรียมชง สคร.พิจารณาแผนร่วมทุนเอกชน (PPP) พัฒนาพื้นที่ 17 ไร่ท่าเรือกรุงเทพนำร่อง ผุดอาคารศูนย์ธุรกิจพาณิชยนาวี

ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดประกวดราคาโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (Single Rail Transfer Operator : SRTO) ระยะที่ 1 วงเงิน 2,031.16 ล้านบาทด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) โดยมีเอกชนซื้อซองประมูล 4 ราย ยื่นประมูล 2 ราย โดยกำหนดจะเปิดเคาะราคา e-Auction ในวันที่ 25 มี.ค. 59 ซึ่งมีระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2561 ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ 2 ล้าน TEU/ปี สามารถขนถ่ายตู้สินค้าได้ 6 ราง ในเวลาเดียวกันทำให้มีพัฒนาการเชื่อมกับการขนส่งตู้สินค้าทางรางให้เกิดความสะดวกและนำเทคโนโลยีมาใช้บริการเพิ่มขึ้น เพื่อลดขั้นตอนและเวลาในการให้บริการในท่าเรือและการขนถ่ายตู้สินค้าได้รวดเร็ว

ส่วนโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ท่าเรือแหลมฉบัง งบลงทุนรวม 1,864.19 ล้านบาท ขณะนี้ลงนามสัญญากับผู้รับจ้างแล้ว โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 23 เดือน คาดว่าจะสามารถเปิดบริการปีงบประมาณ 2561 ซึ่งจะมีความสามารถรองรับขนาดระวางบรรทุก 3,000 DWT ขนตู้สินค้าได้คราวละ 200 TEU และขนาด 1,000 DWT ขนตู้สินค้าได้คราวละ 100 TEU ได้อย่างละ 1 ลำ พร้อมทั้งติดตั้งปั้นจั่นหน้าท่า และปั้นจั่นจัดเรียงตู้สินค้าในลานเพื่อให้สามารถรับตู้สินค้าได้ถึง 300,000 TEU/ปี ซึ่งจะช่วยสนับสนุนท่าเรือขนส่งสินค้าทางลำน้ำของเอกชน ช่วยให้การบริหารจัดการท่าเรือแหลมฉบังมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบังและส่วนโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง A อยู่ในแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน ปี 2558-2559 จำนวน 20 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 1.79 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ กทท.ยังมีโครงการพัฒนาพื้นที่ขนาด 17 ไร่ บริเวณด้านข้างอาคารที่ทำการ กทท.ปัจจุบันให้เป็นศูนย์ธุรกิจพาณิชยนาวี มูลค่าลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท โดยได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบให้เอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนาและบริหารจัดการตลอดอายุสัญญา แต่เมื่อครบกำหนดสัญญาต้องโอนทรัพย์สินให้แก่ กทท. ซึ่ง กทท.เตรียมนำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาเพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) พิจารณาเห็นชอบต่อไป

สำหรับแผนนำพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ ประมาณ 500 ไร่ พัฒนาเชิงพาณิชย์นั้น ปัจจุบันมีผู้อาศัยในพื้นที่หลายพันครอบครัว ซึ่งเบื้องต้นได้หารือกับผู้อาศัยประมาณ 20 ชุมชน ในการโยกย้าย เบื้องต้นชุมชนไม่ขัดข้อง โดย กทท.ต้องยืนยันที่อยู่ใหม่จะได้รับความสะดวกมากขึ้น และไม่ติดขัดในเรื่องอาชีพใดๆ ซึ่ง กทท.ต้องเข้าไปดำเนินการทำโครงการอาชีพด้วย ต้องมองให้ครบวงจร เมื่อเปิดพื้นที่ได้แล้ว กทท.จะสร้างที่อยู่อาศัยหรือแฟลตให้ใหม่เพื่อทดแทนชุมชนเดิมและให้เช่าในราคาถูก ซึ่งเบื้องต้นที่ได้เข้าไปพูดคุยแล้วทางชุมชนแต่ละแห่งก็ไม่ขัดข้อง ปัจจุบันพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพมีจำนวน 2,000 ไร่ แต่ใช้พื้นที่สำหรับกิจการของ กทท.เพียง 700 ไร่ ดังนั้นจึงเห็นว่าควรนำทรัพย์สินที่มีอยู่มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด เรื่องนี้ต้องเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐบาล ซึ่งอาจจะใช้เวลาศึกษา 1 ปี และชี้แจงทำประชาพิจารณ์อย่างน้อยใช้เวลา 2 ปี

“ตัวเลขของชาวบ้านที่บุกรุกในพื้นที่ท่าเรือคลองเตยยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอน เพราะมีทั้งคนที่ไม่บุกรุกด้วย เพราะในพื้นที่ 2 พันไร่มีพื้นที่ท่าเรือสัก 700 ไร่ ที่เหลือจะมีอาคารพาณิชย์ที่สร้างไว้อยู่แล้ว มีตลาด และมีส่วนของคนที่บุกรุก ขณะจะต้องสำรวจพื้นที่ ไม่ให้ชุมชนย้ายไปอยู่ไกลจากที่เดิม เช่น สมมติว่าในเบื้องต้นชุมชนตรงนี้มีพื้นที่อยู่ 100 ไร่ การท่าเรือลดเหลือ 10 ไร่ และทำในเชิงสูง พื้นที่ที่เหลือ 90 ไร่จะใช้ประโยชน์ได้ นี่จะวินๆ ทั้งสองฝ่าย” ผอ.กทท.กล่าว

ส่วนปริมาณขนส่งสินค้าในปีนี้คาดว่าจะเติบโต 5% โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 59 ปริมาณขนส่งสินค้าเติบโตเฉลี่ย 2% โดยท่าเรือกรุงเทพเติบโตลดลง 4% ขณะที่ท่าเรือแหลมฉบังมีอัตราเติบโต 3% ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกของไทยที่ยังเติบโตได้ดีคือกลุ่มยานยนต์ แม้ว่าการส่งออกรถยนต์ทั้งคันจะเติบโตไม่มาก หรือเพียง 2-3% แต่การส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์เติบโตอย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น