“ปลัดคมนาคม” จี้ ร.ฟ.ท.เร่งจ้างที่ปรึกษารถไฟความเร็วสูง2 สาย “กทม.-ระยอง, กทม.-หัวหิน” ตามขั้นตอน พ.ร.บ.ร่วมทุน 56 หลังพบยังล่าช้ากว่า Action Plan หวั่นหลุดเป้า และเตรียมตั้งทีมมอนิเตอร์ 20 โครงการอย่างใกล้ชิด เข็นเปิดประมูล และเซ็นสัญญาในปี 59 ทุกโครงการ
นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ปรับตารางการทำงานของแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน ปี 2558-2559 จำนวน 20 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 1.79 ล้านล้านบาท เสร็จแล้ว และรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแล้ว โดยเป้าหมายทุกโครงการจะต้องประกวดราคาภายในปี 2559 ซึ่งจากการตรวจความคืบหน้าการดำเนินงานของ 20 โครงการ พบว่าขณะนี้โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงิน 94,673 ล้านบาท และรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-ระยอง วงเงิน 155,774 ล้านบาท ยังมีความล่าช้ากว่าแผน โดยได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เร่งรัดดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ตามมาตรา 24 ของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56) ซึ่งคาดจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 3-4 เดือน เนื่องจากมีข้อมูลพร้อมแล้ว ส่วนอีก 18 โครงการ ยังเป็นไปตามแผนไม่น่าเป็นห่วง
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะแต่งตั้งคณะทำงานติดตามงานเพื่อมอนิเตอร์ในแต่ละโครงการอย่างใกล้ชิด และรายงานความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรคทุกๆ สัปดาห์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เนื่องจากในปี 2559 นอกจากจะต้องเร่งรัดการประกวดราคาโครงการในแผนปฏิบัติการแล้ว ยังจะต้องติดตามงานก่อสร้าง และเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการภายใต้งบประมาณประจำปี 2559 รวมถึงจะเน้นในเรื่องการปรับปรุงการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมอีกด้วย
“รมว.คมนาคม ต้องการให้มอนิเตอร์ 20 โครงการ โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินงานให้ได้ตามแผนปฏิบัติการ ดังนั้น จะต้องมีสื่อสารระหว่างกันตลอดเวลา ซึ่งนอกจากตั้งคณะทำงานมอนิเตอร์แล้ว จะต้องมีช่องทางในการสื่อสารระหว่างผู้บริหารแต่ละหน่วยที่รวดเร็วอีกด้วย”
สำหรับ 20 โครงการในแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ.2558-2559 วงเงินรวมประมาณ 1.79 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดรางความกว้าง 1 เมตร (Meter Gauge) 5 โครงการ คือ 1.ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น วงเงิน 26,006 ล้านบาท กำหนดให้มีการเสนอราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 8 ธ.ค.2558 นี้ 2.ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร วงเงิน 17,290 ล้านบาท เตรียมประกาศ TOR ประกวดราคาในเดือน ธ.ค.นี้ 3.นครปฐม-หัวหิน วงเงิน 20,036 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 4.มาบกะเบา-ชุมทางจิระ วงเงิน 29,853 ล้านบาท และ 5.ลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 24,918.74 ล้านบาท อยู่ระหว่างการดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
โครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย ความร่วมมือระหว่างไทย-จีน สายกรุงเทพฯ-หนองคาย, แก่งคอย-มาบตาพุด อยู่ระหว่างหารือกับจีน โดยจะมีพิธีเชิงสัญลักษณ์เพื่อแสดงถึงการเริ่มต้นโครงการ ที่ศูนย์ควบคุมการเดินรถ (OCC) เชียงรากน้อย ในวันที่ 19 ธ.ค.2558 และจะเริ่มก่อสร้างในเดือนพ.ค.2559 ความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ อยู่ระหว่างศึกษาสำรวจเส้นทาง โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงิน 94,673 ล้านบาท และรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-ระยอง วงเงิน 155,774 ล้านบาท อยู่ระหว่างการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56
โครงข่ายรถไฟฟ้า จำนวน 5 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี วงเงิน 110,116 ล้านบาท อยู่ระหว่างเสนอ ครม.เห็นชอบ 2.สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี วงเงิน 56,690 ล้านบาท เสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อดำเนินโครงการรูปแบบ PPP ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 3.สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง วงเงิน 54,644 ล้านบาท เสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อดำเนินโครงการรูปแบบ PPP ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 4.รถไฟสายสีแดง บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดง บางซื่อ-หัวลำโพง วงเงิน 44,157 ล้านบาท และ 5.สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 131,003 ล้านบาท
โครงการมอเตอร์เวย์ 3 สายทาง คือ สายพัทยา-มาบตาพุด วงเงิน 20,200 ล้านบาท สายบางปะอิน-นครราชสีมา วงเงิน 84,600 ล้านบาท และสายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี วงเงิน 55,620 ล้านบาท โครงการทางน้ำอีก 2 โครงการ คือ โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบังวงเงิน 1,864 ล้านบาท และโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 1 วงเงิน 2,031 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนการประกวดราคาโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 วงเงิน 55,000 ล้านบาท จะเริ่มทยอยประกวดราคาได้ตั้งแต่เดือน ธ.ค.นี้