ไฟเขียวแผนคมนาคม 1.796 ล้านล้าน ลงทุนเร่งด่วน 20 โครงการ ประกวดราคาปีหน้า 6 โครงการ กรอบวงเงินลงทุนรวม 1.86 แสนล้านบาท ส่วนอีก 14 โครงการ เริ่มประกวดราคาได้ ปี 59-60 วงเงินลงทุนรวม 1.610 ล้านล้านบาทเศษ
วันนี้ (1 ธ.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559 (Action Plan) เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (E-W Corridor) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในปี 2558-2565 ที่มีความพร้อมจะเริ่มประกวด ราคาได้ตั้งแต่ปี 58-60 มีจำนวนทั้งสิ้น 20 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 1.796 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 2 กลุ่มย่อย ได้แก่
กลุ่มแรก โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม และคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินโครงการแล้ว สามารถประกวดราคาได้ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 59 (ต.ค.-ธ.ค. 58) มี 6 โครงการ กรอบวงเงินลงทุนรวม 1.86 แสนล้านบาท ได้แก่ 1. โครงการรถไฟทางคู่ ถนนจิระ-ขอนแก่น 2. ทางหลวงพิเศษพัทยา-มาบตาพุด 3. ทางหลวงพิเศษ บางปะอิน-โคราช 4. โครงการพัฒนาท่าเรือชายฝั่ง ท่าเทียบเรือ A ที่ท่าเรือแหลมฉบัง 5. โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 1 และ 6. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2
กลุ่มที่ 2 โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเริ่มประกวดราคาได้ตั้งแต่ปี 59-60 รวมทั้งหมด 14 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 1.610 ล้านล้านบาทเศษ แบ่งเป็นโครงการใหญ่ ดังนี้ 1. โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่ บ้านโป่ง กาญจนบุรี 2. โครงการรถไฟทางคู่ขนาด 1 เมตร รวม 4 เส้นทาง คือ มาบกะเบา-ถนนจิระ, นครปฐม-หัวหิน, ประจวบฯ-ชุมพร และลพบุรี-ปากน้ำโพ 3. โครงการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร รวม 4 เส้นทาง คือ (1. หนองคาย-ขอนแก่น, โคราช-แก่งคอย, ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-มาบตาพุด (2. กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ (3. กรุงเทพฯ-หัวหิน (4. กรุงเทพฯ-ระยอง และ 4. โครงการพัฒนารถไฟฟ้าขนส่ง 5 เส้นทาง ประกอบด้วย สายสีส้ม, สายสีชมพู, สายสีเหลือง, สายสีแดงอ่อน และสายสีม่วง
สำหรับแหล่งเงินลงทุนใน 20 โครงการนี้ มีสัดส่วนมาจากเงินงบประมาณ 4.68% แผนบริหารหนี้สาธารณะ 70.46% ลงทุนร่วมภาคเอกชน (PPP) 20.98% เงินรายได้ 3.09% และเงินจากกองทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง 0.79% ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ตั้งเป้าการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2559 ว่าจะสามารถเบิกจ่ายเงินได้ประมาณ 58,403 ล้านบาท แบ่งเป็นไตรมาสแรก (ต.ค.-ธ.ค. 58) คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 1,808 ล้านบาท ไตรมาส 2 (ม.ค.-มี.ค. 59) คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 11,138 ล้านบาท ไตรมาส 3 (เม.ย.-มิ.ย. 59) คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 20,239 ล้านบาท และไตรมาส 4(ก.ค.-ก.ย. 59) คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 25,216 ล้านบาท
สำหรับการคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 59 ที่เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในแนวตะวันออก-ตะวันตก หากเป็นโครงข่ายทางหลวงจะมี 4 โครงการ คือ 1. ทางหลวงหมายเลข 12 แม่สอด-มุกดาหาร 2. ทางหลวงพิเศษ เชื่อมต่อซูเปอร์คลัสเตอร์ ระหว่างท่าเรือทวาย-ท่าเรือแหลมฉบัง 3. ทางหลวงพิเศษ เชื่อมต่อซูเปอร์คลัสเตอร์ ระหว่างท่าเรือทวาย-นครราชสีมา 4. ทางหลวงสายมุกดาหาร ตั้งแต่เริงนกทา-ท่าเรือแหลมฉบัง
ขณะที่โครงข่ายรถไฟตามแนวตะวันออก-ตะวันออก จะมี 2 โครงการ คือ (1. รถไฟตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ ตะวันออก-ตะวันตกตอนบน ตั้งแต่แม่สอด พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มุกดาหาร และ (2. รถไฟตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ ตะวันออก-ตะวันตกตอนล่าง ช่วงกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ และกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้จัดทำ Action Plan ในปี 2559 โดยมีโครงการรวม 20 โครงการ วงเงินกว่า 1.77 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง, รถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตร เส้นทาง (1. ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น วงเงิน 26,004 ล้านบาท (2. ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ วงเงิน 29,853 ล้านบาท (3. ช่วงนครปฐม-หัวหิน วงเงิน 20,036 ล้านบาท (4. ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร วงเงิน 17,290 ล้านบาท (5. ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงิน 24,840.54 ล้านบาท
รถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร (1. ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย, แก่งคอย-มาบตาพุด วงเงิน 369,148 ล้านบาท (2. ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ วงเงิน 449,473 ล้านบาท (3. ช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงิน 94,673 ล้านบาท (4. ช่วงกรุงเทพฯ-ระยอง วงเงิน 155,774 ล้านบาท