xs
xsm
sm
md
lg

“นายกฯ” จี้คมนาคมเร่งรถไฟไทย-จีน ติงค่าก่อสร้าง-ดอกเบี้ยแพง สั่ง 2 รองนายกฯ ช่วยเจรจา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“นายกฯ” ติงรถไฟไทย-จีนอืด ค่าก่อสร้างทะลุ 5 แสนล้าน ดอกเบี้ย 2.5% แพง มอบ “ประวิตร-สมคิด” เร่งเจรจาผู้บริหารระดับสูงจีน ยันรับได้ดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 2% ไม่ได้หันกู้ในประเทศแทน โดย ครม.เห็นชอบเซ็น MOC ร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นพัฒนารถไฟแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกตอนใต้ (Lower East - West Corridor) กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง-อรัญประเทศ

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดโครงการความร่วมมือพัฒนาระบบรางระหว่างไทย-จีน และไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งในส่วนของความร่วมมือไทย-จีนนั้นมีการประชุมร่วมกัน 8 ครั้งแล้ว ล่าสุดทางจีนได้ส่งข้อมูลการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางการเงินโดยระบุอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 2.5% ในขณะที่ไทยต้องดอกเบี้ยต่ำกว่า 2% โดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงว่า หากจีนยืนยันดอกเบี้ยที่ 2.5% ไทยจะพิจารณาเงินกู้ในประเทศแทน ซึ่งจะทำให้มีทางเลือกในเลือกใช้ Local Content ภายในประเทศอีกด้วยโดยนายกฯ ได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เดินทางไปเจรจากับผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลจีนเพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องดอกเบี้ยโดยเร็ว

ส่วนผลการศึกษาความเหมาะสมการออกแบบและการสำรวจ พบว่าค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 5แสนล้านบาท จากประมาณการณ์เดิม 4 แสนล้านบาทนั้น เบื้องต้นพบว่าเดิมเป็นการประเมินจากการก่อสร้างบนทางราบส่วนใหญ่ แต่จากการออกแบบล่าสุดจะมีทั้งการก่อสร้างทางยกระดับและการเจาะอุโมงค์ ซึ่งจะหารือกับจีนในรายละเอียดที่มาของค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 ธ.ค. 2558 จะมีพิธีเชิงสัญลักษณ์เพื่อแสดงถึงการเริ่มต้นโครงการ ที่ศูนย์ควบคุมการเดินรถ (OCC) เชียงรากน้อย และจะเริ่มก่อสร้างในเดือน พ.ค. 2559

“ทาง รมว.คลังได้ชี้แจงเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากจีนและนายกฯ เข้าใจ เรื่องนี้ทางเราชัดเจนว่าหากไม่ได้ต่ำกว่า 2% คงจะต้องกู้ในประเทศ ซึ่งจะไม่กระทบต่อการร่วมมือกับจีนเพราะทางจีนต้องการเข้ามาก่อสร้างทางรถไฟและเดินรถมากกว่าจะให้ไทยกู้เงิน” นายออมสินกล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.ได้มีมติอนุมัติการลงนามในร่างบันทึกความร่วมมือ (MOC : Memorandum of Cooperation) ระหว่างกระทรวงคมนาคม กับกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาเส้นทางรถไฟแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกตอนใต้ (Lower East - West Corridor) เส้นทางกาญจนบุรี (บ้านพุน้ำร้อน)-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ระยะทาง 574 กม. โดยจะเป็นการปรับปรุงทางรถไฟเดิมขนาดราง 1 เมตร (Meter Gauge) ให้มีความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้นพร้อมทั้งก่อสร้างเส้นทางช่วงที่ขาดประมาณ 42 กม. แบ่งเป็นช่วงจาก จากาญจนบุรี-พุน้ำร้อน ระยะทาง 26 กม. และช่วง อรัญประเทศ-คลองลึก ระยะทาง 6 กม. โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะเดินทางไปลงนามที่ประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 26-28 พ.ย.นี้

โดยเส้นทางดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ง่ายและใช้เวลาน้อยเนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีอยู่แล้ว และทางญี่ปุ่นมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในการเดินรถขนส่งสินค้าเพื่อเชื่อมโยงระหว่างพม่า-ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม โดยจะเป็นการตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อนำรถไฟเข้ามาขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 12 ฟุต หรือมินิคอนเทนเนอร์ก่อน

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังลงนาม MOC พัฒนาเส้นทางรถไฟ Lower East - West Corridor แล้วไทย-ญี่ปุ่นจะหารือในรายละเอียดในความร่วมมือเฟส แรก คือปรับปรุงทางรถไฟเดิมขนาด 1 เมตร ให้มั่นคงแข็งแรง ซึ่งขณะนี้ทางญี่ปุ่นได้ส่งทีมเข้ามาศึกษาสำรวจแล้วและจะสรุปค่าก่อสร้างและรูปแบบทางการเงิน จากนั้นญี่ปุ่นจะนำรถไฟมาทดลองเดินรถขนส่งสินค้า โดยจะตั้งเป็นบริษัทร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่น และเฟสที่ 3 จะก่อสร้างส่วนต้นทางและปลายทางระยะทางรวม 42 กม.เพิ่มเติมให้เส้นทางสมบูรณ์ และในอนาคตจะมีการพัฒนาเป็นทางคู่หรือไม่ จะต้องรอผลการศึกษาที่จะสรุปประมาณกลางปี 2559 ก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น