xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” เร่งประมูลรถไฟกาญจนบุรีเชื่อมทวาย ดึงญี่ปุ่นร่วมทุนแซงคิวชินคันเซ็น กทม.-เชียงใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สมคิด” ดันประมูลก่อสร้างรถไฟกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ เชื่อมระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ (East-West Corridor) กัมพูชา-ไทย-เมียนมาร์ รองรับนิคมฯ ทวาย คาด พ.ย.ผลศึกษาชัดเจนแซงหน้ารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เหตุศึกษาช้ากว่า “คมนาคม” จ่อเจรจาญี่ปุ่นร่วมทุน ส่วนรถไฟแม่สอด-พิษณุโลก-มุกดาหาร ดันศึกษาเสร็จใน 1 ปี หวังเปิดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจด้านบน


วันนี้ (5 ต.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้ประชุมร่วมกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางรถไฟ และถนน โดยนายสมคิดกล่าวว่าได้เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Corridor) ด้านล่าง เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ และฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง ซึ่งถือเป็นเส้นทางที่สำคัญที่สุดเนื่องจากสามารถขนส่งทั้งคนและสินค้า และผ่านแหล่งอุตสาหกรรมตลอดเส้นทางซึ่งจะทำให้การขนส่งไปถึงเมียนมาร์และอินเดียได้รวดเร็วขึ้น โดยกระทรวงคมนาคมมั่นใจว่าจะสามารถประกวดราคาได้ภายในสิ้นปี 2558

พร้อมกันนี้ได้ติดตามความคืบหน้าเส้นทางรถไฟ ตะวันออก-ตะวันตก ด้านบน จากมุกดาหาร-พิษณุโลก-ตาก-แม่สอด ที่แม้ปริมาณสินค้าอาจจะมีไม่มากแต่จะมีประโยชน์ในการขนส่งผู้โดยสารซึ่งจะกระจายความเจริญไปยังจังหวัดใหญ่ๆ ตามแนวเส้นทางระหว่างภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ จึงจะเร่งรัดการพัฒนาเป็นลำดับถัดไป ส่วนโครงข่ายถนนในแนวทางเดียวกันนั้น การก่อสร้างแล้วเสร็จกว่า 50% แล้วเหลือบางตอนที่จะเร่งการก่อสร้างสมบูรณ์ในปี 2559

“เส้นทางรถไฟแนวตะวันออก-ตะวันตกด้านล่าง จากกาญจนบุรี-สระแก้วนั้นจะเร่งรัดให้สามารถเริ่มต้นได้ภายในปีนี้ เพราะเส้นทางไม่ยาวมาก สามารถแบ่งเป็นตอนๆ ก่อสร้างได้ และควรเจรจากับญี่ปุ่นก่อนตามความร่วมมือการพัฒนารถไฟไทย-ญี่ปุ่น เพราะจำนวนสินค้าที่ต้องใช้เส้นทางมีมาก และเชื่อมต่อไปยังเมียนมาร์ได้” นายสมคิดกล่าว

ส่วนความร่วมมือไทย-จีน ในการพัฒนารถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-โคราช-หนองคาย, แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 873 กม.นั้นจะต้องเร่งรัดด้วยเนื่องจากเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ ซึ่งจะต้องเจรจากับจีนในเรื่องผลตอบแทนทางการเงินที่ดีที่สุด โดยจะดูที่ผลตอบแทนทางการเงินอย่างเดียวไม่ได้เพราะโครงการขนส่งได้ทั้งคนและสินค้า ทำให้เกิดความเจริญสองข้างทางและเมืองที่ผ่าน ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจะต้องทำแผนการพัฒนาจังหวัดตามแนวเส้นทางให้มีความชัดเจนเพื่อให้เห็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจภาพรวม ทั้งด้านท่องเที่ยว ธุรกิจ การพัฒนาเมือง เป็นต้น

“รถไฟไทย-จีน (กรุงเทพฯ-หนองคาย) ความเร็วปานกลาง กับรถไฟไทย-ญี่ปุ่น (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) ระบบชินคันเซ็น รัฐบาลมีความชัดเจนเรื่องร่วมมือแล้ว ซึ่งกับจีนนั้นอาจจะต้องมีการเจรจาเพื่อปรับเรื่องเงินลงทุนเพื่อให้โครงการมีความเป็นไปได้ และไทยต้องการทั้งสองเส้นทางไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดจุดตัดของรถไฟ เหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก เพื่อไทยจะกลายเป็นจุดศูนย์กลางของเออีซี”

คาด พ.ย.ผลศึกษารถไฟ กาญจนบุรี-กทม.-แหลมฉบัง-สระแก้ว ชัดเจน

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ทางญี่ปุ่นได้ส่งทีมเข้ามาทำการสำรวจออกแบบเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง-สระแก้ว ตามข้อตกลงความร่วมมือ ไทย-ญี่ปุ่นแล้ว เส้นทางดังกล่าวถือเป็นการพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก ตอนใต้ (Northern Corridor) โดยคาดว่าประมาณ พ.ย.นี้การศึกษาจะมีความชัดเจนขึ้น ซึ่งจะต้องรู้วงเงินลงทุนก่อนจึงจะสรุปได้ว่าจะร่วมทุนกับญี่ปุ่น ตั้งแต่การก่อสร้างหรือร่วมทุนเฉพาะเรื่องการเดินรถ โดยไทยนั้นต้องการให้ร่วมทุนกับเอกชนเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาล รวมถึงจะตัดสินใจได้ว่าจะพัฒนาเป็นทางคู่ขนาดราง 1 เมตรตามเดิม หรือปรับเป็นรางขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร หากเป็นเส้นทางหลักเชื่อมการขนส่งสินค้าควรเป็นรางขนาด 1.435 เมตร เพื่อเปลี่ยนเทคโนโลยีให้ทันสมัย

นอกจากนี้จะต้องหารือกับเมียนมาร์ในการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟจากกาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อนและทวาย คู่ขนานไปกับการพัฒนาด่านผ่านแดนพุน้ำร้อน และการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายกาญจนบุรี-บางใหญ่ ภายในปี 2559 ด้วย การที่เร่งรัดเส้นทางนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่ง บมจ.อิตาเลียน-ไทยได้เริ่มปรับพื้นที่และคาดว่าในปี 2559 ลูกค้าจะเข้าไปยังพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทวาย ประมาณ 60%

“เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ รถไฟมีแนวเส้นทางเดิมและยังเดินรถอยู่ โดยเป็นทางเดี่ยว วันนี้ต้องการชวนญี่ปุ่นมาร่วมทุน ซึ่งญี่ปุ่นขอพิจารณาผลศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ (Feasibility Study) ก่อนตัดสินใจ เราเร่งรัดเพื่อรองรับการเปิดทวาย อาจจะประมูลช่วงกาญจนบุรี-ลาดกระบัง หรือกาญจนบุรี-นครปฐมก่อนได้ ส่วนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับญี่ปุ่นนั้น เนื่องจากระบบรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นนั้นมีขั้นตอนและต้องใช้เวลาในการศึกษาเพื่อความรอบคอบอีกมาก และต้องรับรองในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยอีก แต่จะเป็นในลำดับต่อไป” นายอาคมกล่าว

สำหรับแนวเส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร ด้านบนนั้น ในส่วนโครงข่ายถนนอยู่ระหว่างปรับปรุงเป็น 4 ช่องจราจร โดยช่วงพิษณุโลก-หล่มสัก ระยะทาง 104 กม.จะเปิดใช้ในวันที่ 27 ธ.ค. 2558 ซึ่งจะมีกิจกรรมทั้งการปั่นจักรยาน 100 กม. การประกวดภาพถ่าย การวิ่งมาราธอน เพื่อโปรโมตเส้นทางท่องเที่ยว โดยยังขาดช่วงแม่สอด-ตาก ตอนที่ 3 และ 4 ซึ่งผ่าน EIA แล้ว และช่วงมุกดาหาร-คำชะอี-บ้านนาไคร้-กาฬสินธุ์ อยู่ระหว่างปรับแบบ และของบประมาณปี 2560 เพื่อดำเนินการ

ส่วนเส้นทางรถไฟนั้น การศึกษาเบื้องต้นจากแม่สอด-มุกดาหาร ระยะทาง 815 กม. แบ่งเป็นช่วง แม่สอด-พิษณุโลก, พิษณุโลก-ขอนแก่น-มุกดาหาร ซึ่งญี่ปุ่นจะช่วยศึกษาเพิ่มเติม ผ่านภูเขาถึง 150 กม.ซึ่งจะเป็นเส้นทางรถไฟที่เชื่อมภาคเหนือและอีสาน และลาว เน้นการขนส่งสินค้าเป็นหลัก คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น