xs
xsm
sm
md
lg

กล่อมไม่สำเร็จ ญี่ปุ่นยืนกรานไม่ใช้ทางร่วม แยกระบบรถไฟความเร็วสูงกับรถไฟไทย-จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” เผยญี่ปุ่นยืนกรานแยกระบบและรางรถไฟความเร็วสูงไม่ใช้ร่วมกับรถไฟไทย-จีน เพื่อความปลอดภัยและป้องกันปัญหาในอนาคต เผยปัญหาหลักเขตทางรถไฟไม่พอ อาจต้องเวนคืนเพิ่มหรือยกระดับเป็น 2 ชั้น หวั่นค่าก่อสร้างเพิ่ม ด้านญี่ปุ่นส่ง 3 ทีมลงพื้นที่สำรวจแนวกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กาญจนบุรี-สระแก้ว-แหลมฉบัง, แม่สอด-มุกดาหารแล้ว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-รัฐบาลญี่ปุ่นในการพัฒนาระบบราง ว่า ในส่วนของศูนย์ควบคุมการเดินรถ (OCC) รถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กม.นั้น จะจัดสรรพื้นที่ภายในสถานีกลางบางซื่อให้กับญี่ปุ่น เนื่องจากในการให้บริการรถไฟความเร็วสูงจะต้องเชื่อมเข้าสู่สถานีใหญ่เพื่อประโยชน์สูงสุด ส่วนรถไฟความเร็วปานกลาง เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 873 กิโลเมตร ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทย-จีนนั้น ศูนย์ควบคุมการเดินรถจะอยู่ที่เชียงรากน้อย

ขณะที่ระบบอาณัติสัญญาณ (signaling) และระบบราง (track) นั้น มีความเป็นไปได้ที่ต้องพิจารณาแยกกันระหว่างรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นกับรถไฟความเร็วปานกลางของจีน เนื่องจากคงไม่สามารถใช้ร่วมกันหรือ sharetTrack ได้ เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นจะเกิดการโทษกันว่าเพราะมีการใช้ทางร่วมกันได้

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ล่าสุด ในการประชุมร่วมกันของคณะทำงานรถไฟไทย-ญี่่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ทางญี่ปุ่นยังคงยืนยันว่าต้องการแยกระบบของรถไฟรถไฟความเร็วสูง ระบบชินคันเซ็น ออกจากทุกระบบ 100% เนื่องจากชินคันเซ็นเป็นระบบเฉพาะที่หากมีการ share track หรือใช้ระบบอาณัติสัญญาณร่วมจะทำให้ไม่มั่นใจในการควบคุมดูแล ทั้งนี้ หากไม่สามารถใช้ระบบและรางร่วมกันได้จะมีปัญหาเรื่องพื้นที่เขตทางรถไฟไม่เพียงพอในบางจุด โดยเฉพาะในเขตเมือง ตั้งแต่ดอนเมืองเป็นต้นไป ซึ่งจะต้องลงพื้นที่สำรวจและศึกษาออกแบบให้ชัดเจน

ซึ่งเมื่อพื้นที่เขตทางรถไฟไม่เพียงพอจะสามารถเวนคืนที่เพิ่มได้หรือไม่ และหากไม่ได้อาจต้องออกแบบเป็นทางยกระดับซ้อนกัน ซึ่งจะทำให้มีค่าก่อสร้างและต้นทุนโครงการเพิ่ม และจะต้องพิจารณาร่วมกันว่าใครจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบ

***ญี่ปุ่นส่งทีมลงพื้นที่สำรวจแนวรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่แล้ว

นายอาคมกล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค. คณะทำงานไทย-ญี่ปุ่นได้ประชุมร่วมกันเพื่อติดตามความคืบหน้า ซึ่งล่าสุดทางญี่ปุ่นได้จัดหาที่ปรึกษา 3 ทีมเพื่อทำการสำรวจ 1. เส้นทางรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กม. 2. เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง ระยะทาง 574 กม. และ 3. ปรับปรุงระบบการขนส่งทางรางเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อปรับโหมดการขนส่งจากรถบรรทุกมาใช้ขนส่งทางรางให้มากขึ้น และความเป็นไปได้ในการตั้งบริษัทร่วมทุนในการเดินรถ เช่น ประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการร่วมทุน

ทั้งนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรางนั้นยังมีข้อกังวลเรื่องจุดตัดทางรถไฟกับถนนและทางลักผ่านทั่วประเทศที่มีถึง 2,500 แห่ง ทำให้ไม่สามารถสร้างหลักประกันในเรื่องความตรงต่อเวลาได้ นอกจากนี้ยังต้องเร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และจัดหาหัวรถจักรเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังได้ให้ข้อมูลผลการศึกษาเบื้องต้น แนวแม่สอด (ตาก)-มุกดาหาร ในช่วง แม่สอด-พิษณุโลก และช่วงขอนแก่น-มุกดาหาร เพื่อให้ญี่ปุ่นช่วยศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน เนื่องจากถือเป็นเส้นทางที่สามารถเชื่อมการขนส่งทั้งสินค้าและผู้โดยสารจากลาวและเวียดนาม ผ่านไทยไปยังพม่าด้วยระบบรางที่ประหยัดค่าขนส่งได้มากกว่ารถยนต์ ซึ่งจากข้อมูลสำรวจพบว่าในภาคอีสานมีความต้องการขนส่งสินค้าสูง และมีบริษัทเอกชนรายใหญ่พร้อมที่จะใช้รถไฟในการขนส่ง

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานของญี่ปุ่นขอเวลาในการลงสำรวจพื้นที่ระยะหนึ่ง โดยจะมีการประชุมร่วมเพื่อติดตามความคืบหน้าทุกๆ 2 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น