“กรมทางหลวง” ปรับแผนแม่บทพัฒนามอเตอร์เวย์ 20 ปี ผุดอีก 21 สายทาง กว่า 6 พัน กม.เตรียมเสนอ 2 สายเร่งด่วน คือ นครปฐม-ชะอำ และสงขลา-ชายแดนมาเลเซีย วงเงินลงทุนรวมกว่า 1.1 แสนล้าน ด้านคมนาคมสั่ง ทล.รับฟังความเห็นมอเตอร์เวย์ กาญจนบุรี-พุน้ำร้อน หลังทหารค้านเส้นทางตัดผ่านพื้นที่ เพื่อสรุปการศึกษาครั้งสุดท้าย
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ของประเทศไทย ระยะเวลาดำเนินงาน 20 ปี (2560-2579) รวม 21 สายทางระยะทางทั้งสิ้น 6,612 กม.ว่า เบื้องต้นพบว่าเส้นทางที่มีความเหมาะสมในการลงทุนในลำดับแรก มี 2 เส้นทาง คือ สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 118 กม. วงเงินลงทุน 80,600 ล้านบาท และสายสงขลา-ชายแดนไทย/มาเลเซีย (ด่านสะเดา) ระยะทาง 83 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท เนื่องจากเส้นทางในปัจจุบันมีปริมาณจราจรหนาแน่นมาก โดยสายนครปฐม-ชะอำนั้นได้มีการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการแล้ว รวมถึงได้รับความเห็นชอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว โดยจะเร่งดำเนินการศึกษาการลงทุนในรูปแบบร่วมทุนกับเอกชน (PPP) ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 56 และคาดว่าจะสรุปเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาในเดือนก.ย.2559
สำหรับแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ 20 ปีนี้ ทล.ได้นำแผนแม่บทเดิมที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2540 ซึ่งมี 13 เส้นทาง ระยะทาง 4,150 กม. มาปรับปรุงใหม่ เป็นแผนแม่บท 20 ปี มี 21 สายทาง โดยระยะทางเพิ่มเป็น 6,612 กม. โดยจะสรุปผลการศึกษาในปลายปี 2558 นี้จากนั้นจะเสนอครม.เห็นชอบต่อไป โดยจะมีการจัดลำดับความสำคัญของเส้นทางที่จะดำเนินงานก่อนหลังด้วย ส่วนการลงทุนนั้น เป็นไปได้ทั้งการร่วมทุน PPP, การใช้เงินจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานฯ หรือรัฐลงทุนเองขึ้นกับนโยบายซึ่งในแต่ละเส้นทางจะมีปัจจัยในการพิจารณารูปแบบลงทุนที่ไม่เหมือนกัน
นายอานนท์กล่าวถึงความคืบหน้าการประมูลก่อสร้างมอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม. วงเงิน 20,200 ล้านบาทว่า ขณะนี้ได้ตัวผู้รับจ้างแล้ว 3 ตอน คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ในเดือน ม.ค. 2559 ส่วนอีก 9 ตอนที่เหลือเนื่องจากอยู่ระหว่างปรุง TOR หลังจากมีการทักท้วง โดยจะเร่งสรุปเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างรอประกาศกฎกระทรวงให้มอเตอร์เวย์สายพัทยา-มาบตาพุด เป็นเส้นทางที่เก็บค่าผ่านทาง เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ใช้เงินจากกองทุนค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ก่อสร้าง
ส่วนสายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. วงเงิน 84,600 ล้านบาท จะเริ่มทยอยประกาศ TOR ในบางตอนที่ไม่มีข้อติดขัดเรื่อง EIA ได้ในเดือน ธ.ค. 58 - ม.ค. 59 เช่น ช่วงทางต่างระดับ เป็นต้นส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี 96 กม. วงเงิน 55,620 ล้านบาท คาดว่าจะขายซองได้ประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย. 59 ซึ่งภาพรวมขณะนี้ถือว่าล่าช้าจากแผนประมาณ 2-3 เดือน แต่ยังอยู่ในกรอบโครงการเร่งด่วนที่จะประมูลปี 2559 ของกระทรวงคมนาคม
ด้านนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน กล่าวว่า ได้หารือถึงโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายกาญจนบุรี-ชายแดนไทย/พม่า (บ้านพุน้ำร้อน) อ.เมือง จ.กาญจนบุรี กรณีแนวทางเลือกที่ 1 ด้านเหนือ ผ่านเขาชนไก่ ซึ่งตัดผ่านพื้นที่ทหารนั้น ทางทหารยืนยันว่าไม่เหมาะสมเพราะเป็นพื้นที่อ่อนไหวด้านความมั่นคง จากผลการศึกษาพบว่า ทางเลือกที่ 4 แนวด้านใต้ ระยะทาง 82 กม. มีความเหมาะสมทั้งทางด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ดังนั้นจะสรุปผลการหารือชี้แจงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจะรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Studies : FS) ต่อไป