กาญจนบุรี - นอภ.เมืองกาญจนบุรี เผยปัญหา และอุปสรรคด่านถาวรบ้านพุน้ำร้อน มาจากภาคราชการ ภาคประชาชน และภาคสังคม ยังมีช่องโหว่ ทำให้ขบวนการทำผิดกฎหมายฉวยโอกาสง่าย
วันนี้ (20 ก.ค.) นายศรัทธา คชพลายุกต์ นอภ.เมืองกาญจนบุรี กล่าวว่า ด่านถาวรบ้านพุน้ำร้อน หมู่ 12 ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี มีพื้นที่ติดเขตแนวชายแดนไทย-สหภาพพม่า ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรี ประมาณ 75 กิโลเมตร เดิมสภาพหมู่บ้านมีพ้นที่ประมาณ 4,247 ไร่ โดยพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ อ.เมืองกาญจนบุรี อ.วังกะ อ.บ้านทวน อ.วังขนาย จ.กาญจนบุรี พุทธศักราช 2481 ต่อมา เมื่อปี 2535 ราชการประกาศให้เป็นหมู่บ้านป้องกันตนเองชายแดน (ปชด.) ทำการจัดสรรที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 10 ไร่ และพื้นที่ปลูกบ้านอีกครอบครัวละ 2 งาน และในปี 2536 ราชการประกาศให้เป็นหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.)
จากนั้น ราษฎรมีการขยายครอบครัว จึงขยายการถือครองที่ดินโดยไม่มีเอกสารสิทธิ แต่ใช้สิทธิการทำประโยชน์ และเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.5) ให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเก่า จำนวน 966 แปลง รวม 16,501 ไร่ 3 งาน 89 ตารางวา ทำให้ปัจจุบันหมู่บ้านพุน้ำร้อน มีการถือครองที่ดินครอบคลุมพื้นที่รวมประมาณ 22,000 ไร่ มีประชากร 950 คน 350 ครัวเรือน ภายในหมู่บ้านยังเป็นที่ตั้งของชุมชนมอญถือบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนอาศัยอยู่ 65 ครัวเรือน 300 คน
บ้านพุน้ำร้อน ได้มีประกาศทางราชการ 2 ฉบับ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และสภาพทางสังคม เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาใหม่ ได้แก่ 1.ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน หมู่ที่ 12 ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2556
2.ประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่ 2/2558 เรื่อง กำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 ให้ท้องที่ ต.แก่งเสี้ยน และ ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558
สภาพปัญหาที่เกิดจากภาคราชการ คือ 1.ประกาศเปิดจุดผ่านแดนเป็นเพียงประกาศที่มีผลทางกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเดียว แต่มีส่วนราชการอีกหลายส่วนราชการยังไม่มีประกาศให้พื้นที่จุดผ่านแดนบ้านพุน้ำร้อนมีผลทางกฎหมายของกระทรวงนั้นๆ
เช่น กฎหมายเกี่ยวกับศุลกากร กฎหมายเกี่ยวกับขนส่ง กฎหมายเกี่ยวกับปศุสัตว์ เป็นต้น เลยทำให้การติดต่อธุรกรรมบริเวณจุดผ่านแดนบ้านพุน้ำร้อน บางครั้งใช้กฎตัวเอง หรือบางครั้งใช้กฎอะลุ่มอล่วย ผ่อนปรนแบบวิถีชีวิตชาวบ้าน จึงทำให้เกิดช่องทางการทุจริตต่อหน้าที่อย่างแพร่หลาย
2.การประกาศเปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน เหมือนเป็นการเปิดประตูบ้าน แต่ระบบป้องกันต่างๆ ยังคงเหมือนเดิมไม่ปรับให้ทันเหตุการณ์ แถมระบบป้องกันเดิมที่มีอยู่รวนในบางครั้ง เป็นจุดก่อให้เกิดภัยคุกคามมั่นคงภายในค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนการขนแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยมิชอบ และขบวนการลักลอบนำรถยนต์ไปขายที่ประเทศพม่า การปรับปรุงระบบป้องกันควรป้องกันทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือที่ทันสมัยมีปริมาณที่เพียงพอ และบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ต้องมีเพียงพอ
และ 3.ศูนย์ราชการชายแดนไม่มี มีก็เป็นแบบชั่วคราวต้องอาศัยตู้คอนเทนเนอร์ การให้บริการจึงไม่ครบถ้วน ไม่เบ็ดเสร็จ ไม่เพียงพอ หรือไม่มีบริการ ที่มีบริการก็ไม่บริการรวมกัน จึงเกิดช่องทางบริการนอกรูปแบบนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน
สำหรับสภาพปัญหาที่เกิดจากภาคประชาชน คือ 1.ภาคประชาชนเมื่อเห็นภาคราชการกระทำบางอย่างไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่มีมาตรฐาน ไม่สามารถบริการได้ บริการไม่เพียงพอ หรือบางครั้งราชการบริการแบบไม่ถูกต้อง ประชาชนเลยแตกแถวบ้าง เกิดขบวนการค้าทุกอย่าง เช่น คน สัตว์ สิ่งของ และพืชนอกรูปแบบ เกิดการทุจริตมิชอบ เช่น ขบวนการค้าต่างด้าวมิชอบ ตอนนี้รุนแรงยิ่งขึ้น บุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนเป็นผู้ขนคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยมิชอบ หรือพม่าขนพม่าเข้าเมืองโดยมิชอบ ขบวนการบุกรุกผืนดิน ผืนป่า จับจองที่ดิน
2.ภาคประชาชนขาดการให้ความรู้ในเรื่องการเตรียมความพร้อมในทุกมิติ เพื่อก้าวเข้าสูประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และก้าวเข้าสู่เขตพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตรงกันข้ามกับเกิดความวิตกว่า จะเสียที่ดินที่จับจองจึงเตรียมร้องคัดค้าน ดังนั้น รัฐควรจัดงบประมาณสร้าง ครู ก.ครู ข.ให้ประชาชนไปถ่ายทอดความรู้ต่อๆ กันไป
ส่วนสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากภาคสังคม คือ 1.ขาดการส่งเสริมให้มีตลาดนัดชายแดน เดิมที่นี่มีการซื้อขายแบบวิถีชีวิตชาวบ้าน แต่เมื่อมีประกาศราชการ มีกฎระเบียบที่ไม่ชัดเจน ทำให้การค้าขายชายแดนเกิดการเรียกรับผลประโยชน์ จึงควรจัดให้มีตลาดค้าขายชายแดนที่มีข้อตกลงอย่างชัดเจน
2.ขาดการส่งเสริมให้มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ชายแดน บริเวณชายแดนบ้านพุน้ำร้อน มีแหล่งท่องเที่ยวหลายจุด หากรัฐลงทุนเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็จะสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนโดยไม่ต้องไปประกอบอาชีพผิดกฎหมาย
และ 3.ขาดโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ถึงแม้ว่ารัฐจะลงทุนแต่การจะลงทุนน้อยกว่าการเตรียมความพร้อมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่น แหล่งกักเก็บน้ำ เป็นต้น