xs
xsm
sm
md
lg

ชงรถไฟเข้าครม.r.p.สายส้ม-ม่วงใต้ 2 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -คมนาคมจ่อชงรถไฟฟ้าสายส้ม-ม่วงใต้ มูลค่ารวมกว่า 2 แสนล้านบาทเข้า ครม.ภายในเดือนนี้ พร้อมใช้เงินกู้ลงทุนงานโยธา และใช้รูปแบบ PPP จัดการงานเดินรถ รฟม.คาดเปิดประมูลได้ไตรมาส 2 ปีหน้า พร้อมเผยผลเจรจารถไฟไทย-จีน สรุปวางศิลาฤกษ์ ธ.ค.58 ปักธงความร่วมมือ การันตีโครงการเกิดแน่ ส่วนการก่อสร้างคาดเริ่มพ.ค. 59 หลังตกลงรายละเอียดมูลค่าลงทุน ดอกเบี้ย เผยไทยยึดดอกเบี้ยไม่เกิน2% เตรียมหารือร่วมครั้งที่9ปลายพ.ย.นี้

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เชื่อว่าภายในเดือนพฤศจิกายนนี้จะสามารถนำส่งโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 2 สายทาง วงเงินรวม 201,832 ล้านบาท เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ คือ สายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 21.2 กิโลเมตร วงเงิน 110,116 ล้านบาท และสายสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร วงเงิน 91,716 ล้านบาท

ทั้งนี้สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ล่าสุดอยู่ระหว่างรอความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการนำเสนอ ครม. ส่วนสายสีม่วงใต้ อยู่ระหว่างรอเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
ด้านรูปแบบดำเนินโครงการนั้นยังคงเป็นในลักษณะเดิมที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เคยดำเนินการมาก่อนหน้านี้ คือ ใช้เงินกู้มาก่อสร้างงานโยธา และใช้การลงทุนแบบรัฐและเอกชนลงทุนร่วมกัน (Public private Partnership : PPP) มาดำเนินการในส่วนงานเดินรถ ซึ่งจะแตกต่างจากรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ที่ใช้รูปแบบ PPP ทั้งงานโยธาและเดินรถ
ก่อนหน้านี้นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม. เคยระบุว่า หาก ครม.ให้ความเห็นชอบโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีม่วงใต้ภายในเดือนธันวาคมนี้ ขั้นตอนต่อไปรฟม.ก็จะต้องกลับมาจัดทำเอกสารประกวดราคา คือการจัดทำราคากลาง การร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) โดยใช้เวลาประมาณ 2 เดือน คือ มกราคม-กุมภาพันธ์ 2559 และคาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ภายในไตรมาส 2 ของปี 2559 (เม.ย.-มิ.ย.)
"สายสีส้มจะมีความพร้อมมากที่สุดในการเปิดประมูล ถ้าเราได้รับอนุมัติจาก ครม.ไม่เกินเดือนธันวาคมนี้ ก็ประเมินว่าภายในไตรมาส 2 ของปี 2559 จะได้เปิดประกวดราคา ส่วนสีม่วงใต้ก็จะมีกำหนดการไล่เลี่ยกัน หรือเป็นไปได้คือเปิดประมูลพร้อมกันทั้ง 2 สายทาง ซึ่งไม่ใช่ปัญหา รฟม.สามารถทำได้อยู่แล้ว" นายพีระยุทธ กล่าว
นอกจากรถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทางดังกล่าวแล้ว กระทรวงคมนาคมคาดว่าจะสามารถนำ เสนอโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ส่วนต่อขยาย ดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท ระยะทาง 21.8 กิโลเมตร 31.103.55 ล้านบาท และสายสีแดงมิซซิ่งลิงค์ ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก ระยะทาง 26 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 33,000 ล้านบาท เข้าสู่ที่ประชุม ครม.ได้ภายในปีนี้
นายชาติชาย กล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้า โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-พัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 194 กิโลเมตร วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กิโลเมตร วงเงิน 81,136.20 ล้านบาทว่า ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างรวบรวมรายละเอียดทั้ง 2 เส้นทาง ซึ่งขณะนี้ออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงรอการอนุมัติผลศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จากนั้นสนข.จะนำส่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นำไปเตรียมความพร้อมดำเนินโครงการตามพระราช บัญญัติ (พ.ร.บ.) การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 และยังมั่นใจว่าจะสามารถเปิดประกวดราคาทั้ง 2 เส้น ทางดังกล่าวได้ภายในปี 2559 แน่นอน เนื่องจากเป็นโครงการที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ปี 2559 แล้ว

***รถไฟไทย-จีนตกลง ปักหมุดธ.ค.นี้การันตีเกิดแน่

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี กล่าวต่อไปว่า ผลการประชุมความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 8 ในการศึกษาความเหมาะสมการออกแบบและการสำรวจเส้นทางโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย, แก่งคอย-มาบตาพุด, แก่งคอย-โคราช, โคราช-หนองคาย ระยะทาง 873 กม. เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการสรุปกรอบการทำงานร่วมกัน โดยกำหนดที่จะวางวางศิลาฤกษ์ โครงการที่สถานีเชียงรากน้อย จังหวัดปทุมธานี ในเดือนธันวาคม 2558 และคาดว่าจะเริ่มต้นก่อสร้างโครงการได้ตามแผนเบื้องต้นประมาณช่วงเดือนพฤษภาคม 2559 เนื่องจากต้องให้มีการสรุปการออกแบบรายละเอียดโครงการแล้วเสร็จ สรุปมูลค่าโครงการสมบูรณ์แล้ว และการจัดหาข้อสรุปด้านแหล่งเงินเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะสรุปรายละเอียดที่หารือร่วมกับจีนครั้งที่ 8 ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 เพื่อรับทราบต่อไป
สำหรับการเร่งพิธีการวางศิลาฤกษ์นั้น ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นระหว่าง 2 ประเทศ ว่าโครงการนี้จะสามารถเกิดขึ้นจริง ซึ่งระหว่างนี้จะต้องหารือในส่วนที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพื่อจะได้รายละเอียดของโครงการที่ชัดเจน เช่น อัตราดอกเบี้ยซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป โดยที่ผ่านมาไทยก็ยืนยันที่ขออนุมัติดอกเบี้ยที่ 2 % ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดที่จะหารือระหว่างกันเป็นครั้งที่ 9 ปลายเดือนพฤศจิกายนอีกครั้ง
นอกจากนี้ นายชาติชาย กล่าวภายหลังที่ที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางเข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยได้มีการหารือถึงโครงการความร่วมมือ ไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นให้ความสนใจที่จะลงทุนก่อสร้าง รถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาโดยคาดว่าจะสามารถสรุปเพื่อเสนอครม.ได้ประมาณ เดือนมิถุนายน 2559 และคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างโครงการตามแผนได้ประมาณปี 2562
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงการที่คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ก่อนตามแผนรัฐบาลที่เร่งรัด คือ ก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมตะวันออก-ตะวันตก ในตอนล่าง เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพ-แหลมฉบัง โดยตั้งเป้าตามแผนว่าจะสามารถเปิดประมูล และเริ่มการก่อสร้างได้ประมาณ 2559 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับด้านการขนส่งสินค้าเชื่อมจากทางรถไฟเชื่อมท่าเทียบเรือแหลมฉบัง
กำลังโหลดความคิดเห็น