เผยผลเจรจารถไฟไทย-จีน สรุปวางศิลาฤกษ์ในเดือน ธ.ค. 58 ปักธงความร่วมมือ การันตีโครงการเกิดแน่ ส่วนการก่อสร้างคาดเริ่ม พ.ค. 59 หลังตกลงรายละเอียดมูลค่าลงทุน ดอกเบี้ย ขณะที่ไทยยังยึดดอกเบี้ยไม่เกิน 2% เตรียมหารือร่วมครั้งที่ 9 ปลาย พ.ย.นี้
นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ผลการประชุมความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 8 ในการศึกษาความเหมาะสมการออกแบบและการสำรวจเส้นทางโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย, แก่งคอย-มาบตาพุด, แก่งคอย-โคราช, โคราช-หนองคาย ระยะทาง 873 กม. เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการสรุปกรอบการทำงานร่วมกัน โดยกำหนดที่จะวางศิลาฤกษ์โครงการที่สถานีเชียงรากน้อย จังหวัดปทุมธานี ในเดือนธันวาคม 2558 และคาดว่าจะเริ่มต้นก่อสร้างโครงการได้ตามแผนเบื้องต้นประมาณช่วงเดือนพฤษภาคม 2559 เนื่องจากต้องให้มีการสรุปการออกแบบรายละเอียดโครงการแล้วเสร็จ สรุปมูลค่าโครงการสมบูรณ์แล้ว และการจัดหาข้อสรุปด้านแหล่งเงินเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะสรุปรายละเอียดที่หารือร่วมกับจีนครั้งที่ 8 ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 เพื่อรับทราบต่อไป
สำหรับการเร่งพิธีการวางศิลาฤกษ์นั้น ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นระหว่าง 2 ประเทศ ว่าโครงการนี้จะสามารถเกิดขึ้นจริง ซึ่งระหว่างนี้จะต้องหารือในส่วนที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพื่อจะได้รายละเอียดของโครงการที่ชัดเจน เช่น อัตราดอกเบี้ยซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป โดยที่ผ่านมาไทยก็ยืนยันที่ขออนุมัติดอกเบี้ยที่ 2% ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดที่จะหารือระหว่างกันเป็นครั้งที่ 9 ปลายเดือนพฤศจิกายนอีกครั้ง
นอกจากนี้ นายชาติชายกล่าวภายหลังที่ที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเดินทางเข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยได้มีการหารือถึงโครงการความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นให้ความสนใจที่จะลงทุนก่อสร้าง รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา โดยคาดว่าจะสามารถสรุปเพื่อเสนอ ครม.ได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2559 และคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างโครงการตามแผนได้ประมาณปี 2562
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงการที่คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ก่อนตามแผนรัฐบาลที่เร่งรัด คือ ก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมตะวันออก-ตะวันตก ในตอนล่าง เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง โดยตั้งเป้าตามแผนว่าจะสามารถเปิดประมูล และเริ่มการก่อสร้างได้ประมาณ 2559 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับด้านการขนส่งสินค้าเชื่อมจากทางรถไฟเชื่อมท่าเทียบเรือแหลมฉบัง