xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” เร่งคมนาคมลงทุน PPP ลดภาระรัฐ จี้สรุปเดินรถสีน้ำเงินและแอร์พอร์ตลิงก์ต่อขยาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สมคิด” กำชับคมนาคมจัดลำดับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง ตั้งกรอบความยั่งยืนทางการคลังใน 5 ปี ภาระหนี้ต้องไม่เกิน 50% ของจีดีพี เน้นร่วมทุนเอกชน (PPP) เพื่อลดภาระลงทุนของรัฐ สั่งวางโครงข่ายคมนาคมหนุนไทยเป็นศูนย์กลาง AEC เชื่อมแนวตะวันออก-ตะวันตก และยกระดับนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังเป็นซูเปอร์อีสเทิร์นซีบอร์ด ดึงนักลงทุนเข้ามาเพิ่ม พร้อมเร่งสรุปการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายและแอร์พอร์ลิงก์พญาไท-ดอนเมือง ส่วนรถไฟไทย-จีนเดินหน้าตามข้อตกลงเดิม



นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกระทรวงคมนาคม วันนี้ (9 ก.ย.) ว่า ตามแผนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคมซึ่งมีมูลค่าสูงและหากรวมกับโครงการลงทุนของกระทรวงอื่นๆ จะยิ่งมีมูลค่ามหาศาลหลายล้านล้านบาท ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดลำดับการลงทุนโครงการก่อนหลังให้เหมาะสมและเพื่อสร้างความมั่นใจ ซึ่งต่อจากนี้จะเป็นเรื่องการขับเคลื่อนเชิงปฏิรูป โดยเป็นการลงทุนด้านคมนาคมโครงสร้างพื้นฐาน โดยใน 5 ปีข้างหน้าจะต้องวางกรอบความยั่งยืนทางการคลังจากงบประมาณที่ลงทุนนั้น โดยภาระหนี้ต่อจีดีพีต้องไม่เกิน 50% แม้ว่ามาตรฐานทั่วโลกจะอยู่ที่ 60% แต่ไทยจะต้องพยายามควบคุมให้ได้ในกรอบดังกล่าวเพื่อไม่ให้การลงทุนโครงการจำนวนมากแล้วทำให้การเงินอ่อนแอ

ทั้งนี้ ในกรอบความยั่งยืน หากเดินหน้าเฉพาะโครงการคมนาคมคงไม่มีปัญหา เพราะมูลค่าลงทุน 2 ล้านล้านบาทจีดีพีไม่เกิน 50% อยู่แล้ว แต่ประเทศไทยยังมีโครงการลงทุนในส่วนของกระทรวงอื่น ดังนั้นต้องจัดระเบียบการลงทุน และต้องมีการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบรัฐและเอกชนลงทุนร่วมกัน (Public private Partnership : PPP) เพื่อลดภาระของรัฐบาลและเป็นแนวทางที่สามารถลงทุนได้รวดเร็ว ซึ่ง PPP นั้นไม่ได้หมายถึงรัฐบาลลงทุนส่วนใหญ่แล้วเหลืองานส่วนน้อยให้เอกชนลงทุน แต่ควรเป็นการร่วมทุนใน PPP รูปแบบอื่นๆ ที่มีเงื่อนไขจูงใจเอกชนเข้ามาลงทุน โดยรัฐได้ประโยชน์สูงสุด การประมูลเป็นไปอย่างโปร่งใส

ส่วนการร่วมทุนกับประเทศจีน ญี่ปุ่น หรืออเมริกานั้น นายสมคิดกล่าวว่า ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ไทยได้ประโยชน์ เช่น ได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำ หากการกู้เงินจากต่างประเทศมีดอกเบี้ยสูงกว่าในประเทศจะต้องปรับมาใช้เงินกูในประเทศในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากไม่เพิ่มหนี้ต่างประเทศแล้วยังช่วยเรตติ้งประเทศสูงขึ้นด้วย หรือบางโครงการมีศักยภาพสามารถจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมาดำเนินการได้ต้องทำ โดยมอบหมายให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม หารือกับกระทรวงการคลังเพื่อหาแนวทางหรือเงื่อนไขที่จูงใจประชาชนให้เข้ามาซื้อกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพราะที่ผ่านมาได้รับความสนใจน้อยเพราะการตอบแทนผลประโยชน์ใช้เวลานาน

“โครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีนนั้น ขณะนี้ยังคงเดินหน้าไปตามมติ ครม. ส่วนที่มีคนไม่เห็นด้วยกับโครงการนั้น ทางคมนาคมต้องรับฟังและปรับปรุงให้ถูกต้องเหมาะสม ตอนนี้คือ จีนทำเส้นทางไหน ญี่ปุ่นทำเส้นทางไหน ก็เดินไปตามนั้น นอกจากนี้ได้เร่งรัดการจัดหาผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) และแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย (พญาไท-ดอนเมือง) ด้วย” นายสมคิดกล่าว

นอกจากนี้ ได้ฝากให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาโครงการที่เป็นส่วนสนับสนุนการเชื่อมต่อภายในประเทศเพื่อรองรับและทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง AEC เพื่อเกิดประโยชน์แก่ประเทศสูงสุด รวมถึงการวางโครงข่ายคมนาคมเพื่อสนับสนุนคลัสเตอร์ในอุตสาหกรรมกลุ่มต่างๆ เช่น คลัสเตอร์นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังหรืออีสเทิร์นซีบอร์ดที่มีการลงทุนเป็นแสนล้านบาท และในอนาคตจะมีการแข่งขันสูงทั้งจากเวียดนาม อินโดนีเซีย ดังนั้นจะต้องปรับอีสเทิร์นซีบอร์ดให้เป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย มีสิ่งจูงใจให้นักลงทุนเดิมอยู่ต่อและดึงดูดนักลงทุนใหม่เพิ่มขึ้น ดังนั้นต้องมีการพัฒนาถนน สนามบิน ท่าเรือ คลังสินค้า ระบบลอจิสติกส์ เป็นต้น

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมจะต้องจัดลำดับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายหลัก มี 3 เรื่องหลัก คือ 1. ขับเคลื่อนโครงการสำคัญเพื่อเสริมสร้างศักยภาพประเทศด้วยความรอบคอบและคุ้มค่าการลงทุน 2. เพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนในเมืองและในชนบท 3. การส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง ในขณะเดียวกันจะต้องบริหารจัดการแหล่งเงินทุนให้เหมาะสม ซึ่งนโยบายต้องการลดภาระการลงทุนภาครัฐ โดยเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนมากขึ้น ซึ่งจะมีการพิจารณาว่ามีโครงการใดที่สามารถร่วมทุนกับเอกชน PPP ได้ โดยจะมีการปรับรูปแบบ PPP จากเดิมที่รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและให้เอกชนมาร่วมในการบริหารจัดการ เป็นการให้เอกชนเข้ามาร่วมตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ หรือลงทุน 100%

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าเป็นการลงทุนแบบ PPP แล้ว โดยรัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานงานโยธา และเอกชนเข้ามาลงทุนด้านการเดินรถ โดยมีรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองที่จะให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ทั้งงานโยธาและเดินรถแบบ PPP เต็มโครงการ 100% นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหิน ที่จะเป็น PPP เต็มโครงการ 100% สำหรับ 17 โครงการเร่งด่วนในปี 2558-2559 ของกระทรวงคมนาคมที่เหลืออื่นๆ นั้นจะมีการพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง ซึ่งภายในปีนี้จะเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) สายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) และเปิดประมูลก่อสร้างในปี 59

ส่วนการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานนั้น เดิมจะใช้ในโครงการมอเตอร์เวย์เพราะมีความเป็นไปได้ แต่มีประเด็นพิจารณาเรื่องระดมทุนนั้นรัฐต้องการันตีผลตอบแทนตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำหรับโครงการคมนาคมที่มีมูลค่าสูงผลตอบแทนทางการเงินต่ำ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมสูง รัฐจึงต้องรับภาระลงทุน ทำให้มอเตอร์เวย์ต้องปรับไปใช้เงินกู้เพื่อให้สามารถเริ่มต้นโครงการได้ก่อนเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุนและกับประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเมื่อรัฐลงทุนไปได้ระยะหนึ่งสามารถที่จะปรับมาตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานและถ่ายโอนจากรูปแบบเดิมไปได้

“ขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานไปจัดทำกรอบตารางการทำงานแต่ละโครงการให้ชัดเจน ซึ่งเป็นการปรับ Action Plan เดิมให้กระชับมากขึ้น ว่าจะเสนอ ครม.เมื่อใด ประกาศทีโออาร์เมื่อใด ประมูลเมื่อใด อีก 1 อาทิตย์จากนี้จะชัดเจน”

ส่วนการสนับสนุนคลัสเตอร์อุตสาหกรรมโดยเฉพาะการยกระดับอีสเทิร์นซีบอร์ดเป็นซูเปอร์อีสเทิร์นซีบอร์ดนั้น พื้นที่เดิม จ.ชลบุรี และระยองเต็มแล้ว จะมีการขยายพื้นที่ออกไป จ.ฉะเชิงเทรา, ปราจีนบุรี, นครนายก, สระแก้ว โดยจะต้องวางแผนงานโครงข่ายคมนาคมขนส่งเพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น