xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด-U Nyan Tun” จับมือส่งมอบถนนเมียวดี-กอกะเร็ก เบิกฤกษ์สร้างสะพานไทย-พม่าแห่งใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตาก/พิษณุโลก - “สมคิด-U Nyan Tun” ร่วมส่งมอบเส้นทางเศรษฐกิจสายใหม่จากเชิงเขาตะนาวศรี-กอกะเร็ก ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก พร้อมทำพิธีปฐมฤกษ์สร้างสะพานไทย-พม่า เชื่อมแม่สอด-เมียวดี แห่งที่ 2 ท่ามกลางผู้นำชนกลุ่มน้อยในพม่า ตัวแทนรัฐ-เอกชน 2 ประเทศร่วมงานคับคั่ง

วันนี้ (30 ส.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ U Nyan Tun รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ร่วมเป็นประธานในพิธีส่งมอบเส้นทางสายเชิงเขาตะนาวศรี-กอกะเร็ก ที่รัฐบาลไทยสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนา ปรับปรุงทั้งแบบให้เปล่า และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ณ สามแยกกะยินหน่อง บริเวณ กม.17+250 ถนนสายเชิงเขาตะนาวศรี-กอกะเร็ก

ซึ่งโครงการก่อสร้างเส้นทางสายเชิงเขาตะนาวศรี-กอกะเร็ก พร้อมการปรับปรุงทางเดิมสายเมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี เป็นเส้นทางเชื่อมโยงการค้าขาย และการขนส่งระหว่างประเทศ มีจุดเริ่มต้นบริเวณเชิงสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ฝั่ง จ.เมียวดี สิ้นสุดโครงการที่จังหวัดกอกะเร็ก ระยะทาง 45.446 กม. งบประมาณ 1,320 ล้านบาท เพื่อให้การเดินทางระหว่าง อ.แม่สอด-จ.เมียวดี-จ.กอกะเร็ก ได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังเป็นเส้นทางเชื่อมโยงสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค และระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือ East-West Economic Corridor และเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงสายเอเชีย หมายเลข 1 หรือ AH-1 เชื่อมเอเชียตะวันออกถึงยุโรป โดยถนนที่เริ่มต้นจากเมืองเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อไปถึงกอกะเร็ก ยังสามารถเดินทางต่อไปยังเมืองผาอัน เมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง เมืองสะเทิม ในรัฐมอญ และไปถึงนครย่างกุ้งได้

ซึ่งขณะนี้ทางหลวงช่วงดังกล่าวการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย เมื่อเปิดใช้จะสามารถย่นระยะเวลาเดินทางระหว่างเมืองเมียวดี-กอกะเร็ก จากเดิม 2 ชั่วโมง 30 นาทีในฤดูแล้ง เหลือ 90 นาที โดยที่ไม่ต้องขับรถขึ้นภูเขาดอว์นะ ที่ต้องสลับรถขาขี้นกับขาล่องแบบวันคู่-วันคี่

จากนั้นรองนายกรัฐมนตรีไทย และรองประธานาธิบดีพม่า ยังได้ร่วมพิธีปฐมฤกษ์การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 เชื่อมแม่สอด-เมียวดี บริเวณท้ายบ้านวังตะเคียน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก วงเงินก่อสร้าง 3,900 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 2560 โดยมี นายชูศักดิ์ เกวี อธิบดีกรมทางหลวง ร่วมต้อนรับ และกล่าวรายงาน

ทั้งนี้ ในพิธีเปิดถนน-พิธีปฐมฤกษ์สะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2 นอกจากจะมีตัวแทนภาครัฐ-เอกชนทั้งฝ่ายไทย และพม่าร่วมงานอย่างคับคั่งแล้ว ยังมีผู้นำชนกลุ่มน้อยกลุ่มกะเหรี่ยง ประกอบด้วย พล.อ.อาวุโสมูตู เส่ ประธานาธิบดีสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU นายพลหม่องชิดตู่ ผู้นำกองกำลังกะเหรี่ยงพิทักษ์ชายแดน หรือ BGF พ.อ.เมาะโต่ง ผู้นำกะเหรี่ยงพุทธ หรือ DKBA กลุ่มบีจีเอฟ พล.ต.เตเร ผู้นำกะเหรี่ยงกลุ่ม KNLD บุตรชายนายพลโบเมียะ และผู้นำคนสำคัญของกะเหรี่ยงเข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วย

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างกลุ่มที่ 1 แถลงข่าวถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาเส้นทางการค้าร่วมกัน 3 ประเทศ หลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลําไย “ภูดู่” ประตูแห่งมิตรภาพและโอกาส (Luangprabang-Indochina-Mawlamyine Economic Corridor (LIMEC) International Conference “PhuDoo” Gate of Companionship and Opportunities) ที่ห้องสุโขทัย โรงแรมท็อปแลนด์พลาซ่า อ.เมืองพิษณุโลก

นายฐิติ วิศวชัยวัฒน์ ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง1 กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB) หารือร่วมกันแล้วเห็นว่า ต้องยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจอินโดจีน หวังกระตุ้นการเติบโต 5 ด้าน คือ การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา สุขภาพ และลอจิสติกส์ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ ผู้อำนวยการวิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันทั้ง 3 ประเทศ เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อน เริ่มต้นจากการเคลื่อนย้ายคน และต่อไปยังสินค้า บริการ ความรู้ เทคโนโลยี เงินทุน การลงทุน จากด่านพรมแดนภูดู่ และด่านพรมแดนแม่สอด โดยเสนอให้มีการตรวจตราสินค้าจุดเดียว และเสนอให้มีการประชุมระหว่างภาคเอกชน 3 ประเทศอย่างต่อเนื่อง

โดยที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 เป็นแกนผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงศาสนา การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวด้านการศึกษา การท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม การท่องเที่ยวเชิงชายฝั่งทะเล และด้านลอจิสติกส์ นอกจากนั้น ที่ประชุมยังเสนอการให้บริการขนส่งผู้โดยสารเชื่อมโยง 3 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรถบัสประจำทาง เครื่องบินอีกด้วย

ในโอกาสนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแขวงไชยะบูลี สปป.ลาว สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมรัฐกะเหรี่ยง สหภาพพม่า และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมรัฐมอญ สหภาพพม่า ได้ลงนามร่วมกันในบันทึกความเข้าใจการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ ภายใต้ “ระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย”

โดยมีเป้าหมาย และทิศทางการทำงานอันก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน 4 ประการ ได้แก่ 1.แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านธุรกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน 2.จัดประชุมย่อยระหว่างภาคเอกชนในแต่ละประเทศเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน 3.ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานโครงการ และ 4.ผลักดันระเบียงเศรษฐกิจนี้ให้เกิดการยอมรับ และเกิดโครงการต่างๆ ร่วมกันในอนาคต












กำลังโหลดความคิดเห็น