xs
xsm
sm
md
lg

เดินสายอีสานใต้เปิดเวทีลุยรถไฟรางคู่ “โคราช–อุบล” ดันไทยศูนย์กลางลอจิสติกส์อาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ร.ฟ.ท. เดินสายเปิดเวทีที่ จ.สุรินทร์ นำเสนอโครงการและรับฟังความคิดเห็น การก่อสร้างรถไฟรางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี พาดผ่าน 5 จังหวัดอีสานใต้ 309 กม.ความเร็ว 160 กม./ชม.
สุรินทร์ - ร.ฟ.ท.เดินสายเปิดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนโครงการรถไฟรางคู่สายจิระ โคราช-อุบลฯ 309 กม. ความเร็ว 160 กม./ชม. พาดผ่าน 5 จังหวัดอีสานใต้ เผยเมืองช้างรับผลดีย่นเวลาเดินทางดึงคนสู่เมืองอุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์และท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ เชื่อมโยงขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามแนวตะวันออก-ตก ดันไทยเป็นศูนย์กลางลอจิสติกส์อาเซียน ชี้ตามแผนลงมือสร้างปี 2560 เริ่มเดินรถได้ปี 2565

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมทองธารินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ นายถาวร กุลโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน (การประชุมใหญ่) ครั้งที่ 1 ปฐมนิเทศโครงการงานบริการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี เพื่อนำเสนอสาระสำคัญ วัตถุประสงค์ ขอบเขตการดำเนินการ แผนการดำเนินโครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน

โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมสัมมนากว่า 200 คน เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา

สำหรับการประชุมครั้งนี้มีการนำเสนอสาระสำคัญของโครงการ คือ ด้านวิศวกรรมและการออกแบบแนวเส้นทางที่จะพัฒนาให้เป็นระบบรถไฟด่วนความเร็ว 160 กิโลเมตร (กม.)/ชั่วโมง (ชม.) โดยใช้รางขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) แต่ต้องมีการปรับรัศมีโค้งเป็นบางช่วงเพื่อให้รองรับอัตราความเร็วที่กำหนดไว้ ซึ่งจะสร้างทางเพิ่มขึ้น 1 ทางเพื่อวิ่งคู่ขนานกับทางรถไฟเดิม โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการเมื่อพ้นจากสถานีชุมทางถนนจิระ จ.นครราชสีมา และสิ้นสุดที่สถานีอุบลราชธานี ระยะทางรวมประมาณ 309 กม.

ประกอบด้วย 34 สถานี (ไม่รวมสถานีชุมทางถนนจิระ) ผ่านพื้นที่ 16 อำเภอใน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี โดยตลอดแนวเส้นทางโครงการส่วนใหญ่ไม่ได้พาดผ่านพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว เช่น พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ และพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแต่อย่างใด ซึ่งคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ การพัฒนารถไฟรางคู่ช่วงชุมชนถนนจิระ-อุบลราชธานี จะช่วยส่งเสริมให้ จ.สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นเมืองที่มีจุดเด่นด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและเกษตรอินทรีย์ และมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญหลายแห่ง รวมทั้งด้านกีฬาฟุตบอลที่มีชื่อเสียง มีการเดินทางและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยส่งเสริมให้การค้าการลงทุน ธุรกิจท่องเที่ยวและกีฬา ของทั้ง 2 จังหวัดมีการเติบโต สามารถกระจายรายได้สู่ประชาชนในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ในอนาคตหากมีการต่อขยายแนวเส้นทางจากสถานีอุบลราชธานีไปยังบริเวณชายแดนระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว จะทำให้แนวเส้นทางนี้ช่วยทำหน้าที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามระเบียงเศรษฐกิจในแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Corridor) ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันการพัฒนาประเทศและการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการเป็นศูนย์กลางด้านลอจิสติกส์ของไทยในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะก่อให้เกิดความคุ้มค่าในด้านเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น

โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี เป็นเส้นทางหนึ่งตามแผนพัฒนาระบบรถไฟรางคู่ ระยะที่ 2 ของกระทรวงคมนาคม ที่จะก่อสร้างปรับปรุงทางรถไฟช่วงสถานีชุมทางถนนจิระ จ.นครราชสีมา ถึงสถานีอุบลราชธานี จากทางเดี่ยวให้เป็นทางคู่ โดยมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นผู้รับผิดชอบในการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 12 เดือน (ตั้งแต่เดือนเมษายน 2558-เมษายน 2559)

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.จะมีการจัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนอีก 2 ครั้งในช่วงประมาณเดือนกันยายน 2558 และประมาณเดือนมกราคม 2559 เพื่อนำเสนอผลการศึกษาโครงการในขั้นตอนต่อไป โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการได้

นายวรรณนพ ไพศาลพงษ์ รองวิศวกรใหญ่ด้านก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจ้างที่ปรึกษามาศึกษาผสมอัตราทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับการลงทุนครั้งนี้ใช้เงินเท่าไหร่ คุ้มหรือไม่คุ้ม แต่ส่วนมากที่เราทำมาแล้ว 4-5 เส้นทางมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด้านการลงทุนจะคุ้มทุน โดยให้ระยะเวลาศึกษา 12 เดือนในการออกแบบรายละเอียดเพื่อประกวดราคา แต่จะมีปัญหาคือเรื่องคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่อาจช้าไปหน่อย เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจของการรถไฟฯ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานของกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบให้เรา และหากโครงการนี้สำเร็จ สิ่งแวดล้อมผ่าน คาดว่าหลังจากสิ่งแวดล้อมผ่านไปประมาณ 9 เดือน และตามรูทีนของเวลา คาดว่าจะได้เริ่มก่อสร้างประมาณต้นปี 2560 ระยะทางก่อสร้างกว่า 300 กม. จะต้องใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี น่าจะเสร็จสิ้นประมาณปี 2564 และปี 2565 น่าจะเดินรถได้

ส่วนการเวนคืนที่ดินอย่างไรนั้น นายวรรณนพกล่าวว่า เส้นทางนี้เราใช้พื้นที่ของการรถไฟฯ ที่มีอยู่แล้วข้างละ 40 เมตร อาจจะใช้ข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งทางใหม่จะห่างจากทางเดิมไม่เกิน 10 เมตร อยู่ในโซน 6-7 เมตร ยกเว้นกรณีที่มีสะพานอาจจะขยับตัวออกไปอีกหน่อย

ด้าน นายถาวร กุลโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นโอกาสอันดีที่พี่น้องประชาชนจะได้รับโอกาสเป็นอย่างมาก ช่วยในเรื่องการคมนาคม การขนส่งสินค้า รวมทั้งการท่องเที่ยว ทำให้เราสามารถเปิดจังหวัดได้มากขึ้น เพราะจะทำให้คนที่จะมาสุรินทร์มีโอกาสเข้ามากขึ้นด้วยการโดยสารรถไฟ เพราะรถไฟรางคู่จะทำให้ย่นระยะเวลาการเดินทางได้มากขึ้น

นอกนั้นจะเป็นเรื่องการปรับตัวในบางเรื่องของพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับการเดินทางไปมาข้ามระหว่างทางรถไฟ เพราะจะต้องมีการกั้นรั้ว แต่อย่างไรก็ตามทราบว่าจะมีการสร้างอุโมงค์เพื่อให้ประชาชนลอดผ่านได้ แต่การใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนจากเดิมที่เคยข้ามรางเดียวก็อาจขัดข้องบ้าง แต่ประชาชนยังข้ามไปมาได้ อาจทำจุดให้ผ่านได้เป็นช่วงๆ ไป แต่ต้องแลกกับการที่เราจะได้รับประโยชน์จากการคมนาคม การเดินทางด้วยรถไฟที่เร็วขึ้น มีความสะดวกมากขึ้น การขนส่งสินค้าก็จะลดราคาลงเพราะต้นทุนน้อยลง การใช้น้ำมันต่างๆ น้อยลง ประหยัดขึ้นตาม






(ซ้าย) นายวรรณนพ ไพศาลพงษ์ รองวิศวกรใหญ่ด้านก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานร.ฟ.ท. และ  นายถาวร  กุลโชติ รองผู้ว่าฯสุรินทร์
กำลังโหลดความคิดเห็น