xs
xsm
sm
md
lg

“ประจิน” คาดเปิดสัมปทานเดินเรือเฟอร์รีเชื่อมอ่าวไทยภายใน 2 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประจิน” เร่งสรุป ท่าเรือเฟอร์รีเชื่อมอ่าวไทยตะวันออก-ตะวันตก ตั้งเป้าอีก 2 ปีเปิดเส้นทางเดินเรือท่องเที่ยว พัทยา-หัวหิน ชี้รัฐต้องลงทุนท่าเรือ เปิดสัมปทานเอกชนลงทุนเรือ และบริหารจัดการ สัมปทาน 30 ปีจึงจะคุ้มทุน คาดลงทุนรวมถึง 5,000 ล้านบาท

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมโครงการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รีและการเดินเรือเชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก (East-West Ferry) เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ว่า จากที่กรมเจ้าท่า (จท.) ได้ส่งทีมลงพื้นที่สำรวจร่วมกับกองทัพเรือ และจังหวัดที่เกี่ยวข้อง คือ ชลบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี, ชะอำ โดยได้ข้อมูลในการเปรียบเทียบท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง 5 จุดในระดับหนึ่ง แต่ต้องเพิ่มเติมและพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง โดยจะสรุปผลในเดือน ก.ค.นี้ และนำเสนอฝ่ายเศรษฐกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้มอบหมายกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับผิกชอบโครงการ โดยเบื้องต้นจะเป็นการร่วมทุนกับเอกชน (PPP) โดยรัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คือท่าเรือ ประมาณ 1,000 ล้านบาท ใช้งบประมาณประจำปีของกรมเจ้าท่า ดำเนินการช่วงปี 2559-2560 ส่วนเอกชนลงทุนตัวเรือและบริหารสัมปทานไม่ต่ำกว่า 30 ปี โดยประเมินว่าจะใช้เรือประมาณ 4-6 ลำ ราคาลำละประมาณ 600-800 ล้านบาท รวมวงเงินลงทุนประมาณ 3,600-4,800 ล้านบาท

จากการศึกษา ท่าเรือฝั่งตะวันออกที่เหมาะสม 2 แห่ง คือ ท่าเรือแหลมบาลีฮาย (พัทยา) พบว่ามีเรือประมงใช้หนาแน่น นักท่องเที่ยวแออัด หลังท่ามีพื้นที่น้อย ไม่เพียงพอสำหรับจอดรถ, ท่าเรือจุกเสม็ด ซึ่งปัจจุบันกองทัพเรือใช้ในภารกิจทางความมั่นคง และเชิงพาณิชย์ ซึ่งพร้อมกับการเปิดบริการท่าเรือเฟอร์รี ส่วนหลังท่ามีพื้นที่มากพอที่จะปรับปรุงเป็นที่จอดรถได้เหมาะสม นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมเส้นทางรถไฟจากท่าเรือไปยังพัทยา ชลบุรี-กรุงเทพฯ ได้ โดยได้มอบหมายให้ศึกษาความเหมาะสมของท่าเรือศรีราชาและท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) และนำข้อดีข้อเสียมาเปรียบเทียบกันอีกครั้ง

ส่วนฝั่งตะวันตกนั้นมี 3 แห่ง ซึ่งผลสำรวจพบว่า ท่าเรือวัดไทรย้อย อ.ชะอำนั้น เป็นเขตธรณีสงฆ์ มีการสร้างท่าเรือชั่วคราวและมีกำแพงกันคลื่นเพื่อความปลอดภัยแล้ว พื้นที่หลังท่าเหมาะสม สามารถพัฒนาได้ ส่วนท่าเรือร่องน้ำเขาตะเกียบ มีข้อจำกัดในเรื่องการใช้งานร่วมกับประมง หลังท่ามีพื้นที่จำกัด และท่าเรือปากน้ำปราณบุรี อยู่ทางตอนใต้หัวหิน 35 กม. มีประมงใช้ท่าเรือมาก หลังท่ามีพื้นที่ 20 ไร่ พัฒนาเป็นที่จอดรถได้ แต่ยังติดปัญหาการทำถนนเชื่อมเข้าที่ต้องออกแบบใหม่

“นัดประชุมคณะทำงานอีกครั้งใน 3 สัปดาห์ โดยให้ไปดูพื้นที่ต่อเนื่องที่บริเวณสมุทรปราการ ซึ่งมีเอกชนเตรียมเสนอตัวเข้าร่วมโครงการ โดยจะลงทุนทำเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงเรือ และให้บริการท่าเรือเฟอร์รี ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปยังพัทยาได้สะดวก”

นายอภิชาต ชโยภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวคิดในการเดินเรือเชื่อมอ่าวไทยตะวันออกกับตะวันตกมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ต้องมีการศึกษาจำนวนนักท่องเที่ยวที่เป็นลูกค้าเป้าหมายและความต้องการเดินทางของสองฝั่งอย่างชัดเจน และต้องกำหนดค่าโดยสารที่ต่ำกว่าการเดินทางโดยรถยนต์เพื่อจูงใจ อีกทั้งเห็นว่านักท่องเที่ยวสองฝั่งเป็นแบบฤดูกาล ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนมากและมีความต้องการเดินทางในรูปแบบใหม่ๆ ขณะที่นักท่องเที่ยวจากเวียดนามเดินทางมาเที่ยวที่พัทยามากขึ้นด้วย ซึ่งในส่วนของเอกชนเห็นว่าต้องบริหารทั้งท่าเรือและการบริการเดินเรือครบวงจรจึงจะคุ้มค่า
กำลังโหลดความคิดเห็น